พระคง (กรุวัดพระคงฤาษีลำพูน)

คำว่าลำพูนดำ ลำพูนแดง นั้นในสมัยก่อนผู้คนที่นิยมสะสมพระเครื่องจะรู้จักกันดีว่าคือ พระคงดำพระคงแดง ยอดพระกรุของเมืองลำพูน ซึ่งในเวลานั้นมีมากชนิดที่ว่าล้นเมืองกัน เลยทีเดียว ช่วงเวลานั้นประมาณห้าหกสิบปี ที่ผ่านไปผู้คนยังมิได้นิยมพระเหมือนตอนนี้ พระคงที่ขึ้นจากกรุจะพบเห็นชนิดที่ไม่มีหน้าตางามสมบูรณ์แบบ เป็นพิมพ์ที่ไม่มีหน้าตาให้เห็น ผู้คนนิยมแบบจับขอบสองข้างแล้วนำไปกลัดเข็มกลัด หรือใส่สร้อยห้อยคอ ทำให้องค์พระถูกถูไปกับเนื้อตัวของผู้ที่นำไปห้อย ถูกกับเหงื่อไคลบ้าง ทำให้เนื้อของพระคงฉ่ำมันสีกระดำกระด่าง งดงามซึ้งตาไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อใช้กล้องส่องดูจะเห็นเนื้อพระแวววาว ที่เรียกกันว่า เนื้อสู้แว่น จึงเป็นที่มาของการเรียกพระที่สึกจนเนื้อเป็นมันว่าพระกรุเก่า

แต่เมื่อกรุพระของวัดพระคงฤาษีลำพูนแตกเมื่อมีการสร้างวิหารขึ้นใหม่ ในปีพ ศ 2518 ปรากฎว่าภายในวิหาร ใต้แท่นแก้วพระประธาน พระคงชนิดงามๆที่มีหน้าตาหูปากจมูกพร้อม ก็ได้ปรากฎโฉมออกมา ทำให้ผู้ที่นิยมพระเครื่องได้ตื่นเต้นฮือฮากัน พระคงที่งามสมบูรณ์แบบเหล่านี้ ได้ถูกเล่นคำใหม่ว่าเป็น พระกรุใหม่ ทำให้บรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของต่างไขว้เขวไปตามๆกันโดยคิดว่าเป็นพระคงของใหม่ ที่สร้างขึ้นในยุคหลัง แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ศิลปะในองค์พระที่มีหูตาจมูกปากพร้อม อีกทั้งเนื้อหา คราบกรุ ขี้กรุ จุดลับจุดชี้เป็นชี้ตาย ตลอดจนที่ไปที่มาของการขุดได้ในวิหารของวัดพระคงแท้ๆนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่าแท้ร้อยเปอร์เซนต์ จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของพระต่อไปมิหนำซ้ำยังเพิ่มความหวงแหนมากขึ้นด้วยซ้ำ

พระคงมีพุทธลักษณะเหมือนปลายนิ้วมือ มีขนาดที่เรียกว่าพอเหมาะพอเจาะไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป พุทธคุณดีทางข่ามคง คงกระพันชาตรี รวมทั้งพุทธคุณทางแคล้วคลาดมีครบอยู่ในองค์พระคง พระคงมีหลายบลีอคหลายพิมพ์ มีทั้งชนิดไม่มีหน้าตา และชนิดที่มีหน้าตาครบ

องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยมือขวาวางบนเข่าขวา มือซ้ายจะวางทอดลงบนหน้าตัก แขนซ้ายวางหักศอกทำมุม 90 องศา รอบเศียรจะมีซุ้มรัศมี ลักษณะของเศียรและใบหน้าจะเหมือนกับบาตรคว่ำ สองข้างขององค์พระจะมีเส้นคู่วิ่งทอดโค้งขนานลงสู่ด้านล่างบริเวณเข่าทั้งสอง เส้นคู่ทางด้านขวาขององค์พระจะมีเนื้อที่มากกว่าทางด้านซ้าย ฐานเป็นฐานบัวลูกแก้วลักษณะเป็นเม็ดกลม หรือเรียกว่าบัวเม็ดสองชั้น มีฐานเล็กๆรองรับอีกสองชั้น รวมฐานทั้งหมดมีสี่ชั้นกลุ่มโพธิ์ของพระคงแบ่งออกเป็นด้านซ้ายและขวา นับใบโพธิ์มีข้างละสิบใบรวมทั้งหมดมียี่สิบใบ พระคงประทับนั่งบนฐานด้วยท่าทางองค์อาจและมั่นคงสมชื่อของความเป็นพระคงโดยแท้ ดูมีความขลังและมั่นใจในพุทธคุณยิ่งสมกับเป็นพระกรุที่มีผู้ที่ต้องการเสาะแสวงหา สะดือของพระคงเป็นติ่งนูนขึ้นมา แตกต่างจากสะดือของพระรอดและพระเปิม พระคงองค์ที่มีหน้าตาพร้อมดูน่ารักและมีเสน่ห์ยิ่ง

 
 

      ภาพที่ 1 พระคงองค์นี้จะมีขนาดใหญ่กว่ามีความกว้าง 2 ซม สูง3 ? ซม หนา1 2/3 ซม. พระคงหรือพระลำพูนยังมีอีกหลายแบบหลายบล๊อค มีความแตกต่างกันไป ตามฝีมือของนายช่างแต่ละท่าน ผู้เขียนจะนำมาเสนอให้ท่านได้รู้ได้เห็นในโอกาสต่อไป

 
 

      ภาพที่ 2 พระคงสีพิกุลเนื้อผ่านตรงฐานพระเป็นสีเขียวหินครก พระคงองค์นี้เป็นพระคงชนิดที่มีหน้าตาพร้อมอีกพิมพ์หนึ่ง ที่แตกต่างจากภาพที่ 1 เป็นพระเนื้อแกร่งที่ถูกไฟแรงจัดเนื้อหาค่อนข้างหยาบมีเม็ดกรวดทรายขึ้นพราวไปทั่วองค์พระ วงหน้าดูกลม มีดวงตาที่โปนนูนออกมาเรียกว่าตาเนื้อ ปากเป็นปื้น บนปากจะมีเส้นเล็กๆ เรียกกันว่าพรายปาก องค์พระบึกบึนสมลักษณะของพระคง เป็นพระคงพิมพ์หนึ่งที่สมบูรณ์แบบมีขนาดกว้าง 2 ซม สูง3 ซม หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 3 เป็นพระคงแดงคราบกรุสีนวล พระคงพิมพ์นี้หน้าตาดูค่อนข้างจะดุดัน เศียรเหมือนกับบาตรคว่ำ อกผายไหล่ผึ่ง ประทับนั่งอย่างงามสง่า ยืดอกที่ล่ำกว้างบนฐานที่ประทับ มองเห็นเม็ดบัวที่ประดับอย่างชัดเจนทั้งด้านบนและด้านล่าง องค์ประกอบโดยรวมงามสมบูรณ์ไม่มีที่ติ ขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 3ซม. หนา1 1/2ซม.

 
 

      ภาพที่ 4 พระองค์นี้เป็นพระสีพิกุลคราบสีขาวนวล เป็นพระคงพิมพ์เดียวกับพระคงองค์ที่ 3 พระคงพิมพ์นี้ขุดได้ที่บริเวณบ้านพักตำรวจเมื่อครั้งมีการก่อสร้างที่พัก บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระคงในอดีตเป็นพระเก่าเก็บ ที่นำมาให้ดูเพื่อที่จะให้เห็นถึงความแตกต่างของสีพระซึ่งมีมากมายหลายสี พระคงองค์นี้มีความกว้าง 2 ซม. สูง 3 1/4 ซม. หนา 1 1/4 ซม. ที่สูงกว่าพระคงองค์ที่ 3เป็นเพราะพระคงองค์นี้มีปีกเหลือตรงด้านบนยื่นออกไป

 
 

      ภาพที่ 5 พระคงสีขาวพระคงสีขาวนี้ไม่ค่อยได้พบเห็นกันเลย เป็นพระสีที่หายากมาก เป็นพระคงพิมพ์เดียวกับพระคงองค์ที่ 2 ความงดงามและสมบูรฌ์ เต็มร้อย หายากทั้งพระและหายากทั้งสี ขนาดความกว้าง 1 3/4 ซม. ความสูง 3 ซม. ส่วนหนา 1 1/2ซม.

 
 

      ภาพที่ 6 เป็นพระคงสีเขียวคราบแดง มีสีที่เข้มคล้ายกับสีของยาอมโบตัน เป็นพระคงอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อม เนื้อหาของพระสีแบบนี้ จะแข็งแกร่งมาก เพราะถูกไฟอย่างเต็มที่ รวมทั้งส่วนผสมของดินด้วยทำให้เกิดความแตกต่างของสีพระ พระคงคงสีแบบนี้ก็พบเห็นน้อย มีขนาดความกว้าง 1 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 7 พระคงสีขาวนวล เป็นพระคงอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความแตกต่างของรูปหน้าและรูปพรรณสันฐาน โดยรอบขององค์พระด้านริมขอบจะมีเส้นเล็กๆ ดวงตาจะกลมโตใหญ่กว่าพระคงทุกพิมพ์ ความงดงามและความสมบูรณ์เรียกได้ว่าเต็มร้อย ขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 3 3/4 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 8 เป็นพระคงสีชมพูมีคราบกรุติดอยู่บางๆ เป็นพระคงพิมพ์เดียวกับพระคงองค์แรก