ยังมีวัตถุโบราณอีกมากมายหลายอย่างรวมทั้ง รูปเคารพที่เป็นเทวรูป พระพุทธรูปและของแปลกๆอีกมากมาย ที่ขุดได้ในเมืองลำพูน ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้คนที่ขุดได้ ต่างไม่ทราบว่าของเหล่านั้นมีความเป็นมาเอย่างไร ทั้งๆที่ตัวเองก็ขุดได้ของเหล่านั้นในเมืองนี้ ของต่างๆนั้นหากตัวเขาเข้าใจถึงเรื่องศิลปะวัตถุ ความเป็นมาก็จะไม่เป็นปัญหา แต่เขาไม่ทราบเอาเสียเลย จึงคาดเดาเอาเองว่าคงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งกว่าจะเข้าใจและรู้ตัวก็แทบจะไม่เหลืออะไรให้ได้เห็น ศิลปะ หริภุญไชยนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีความแตกต่างจากศิล ปะวัตถุที่พบในแหล่งอื่นๆ เป็นแม่แบบที่ได้ถูกนำไปพัฒนาในอาณาจักรรุ่นหลังๆเช่น เชียงใหม่ สุโขทัย จนกระทั่งเขาสามารถนำไปพัฒนาส่วนของเขาจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ดังที่เราได้เห็นกันจนทุกวันนี้ ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอศิลปะวัตถุที่ขุดได้ในเมืองโบราณแห่งนี้ และจะเล่าถึงที่ไปที่มาว่าเป็นอย่างไร ในโอกาสต่อไป

 
 

     ภาพที่ 1 พระศิลปะทวารวดี ที่มีซุ้มไข่ปลาโดยรอบองค์พระ พระชนิดนี้เป็นพระศิลปะทวารวดีที่ขุดได้บริเวณวัดกู่เหล็กและวัดประตูลี้ เป็นบริเวณเดียวกันกับที่ขุดได้พระลือหน้ามงคล พระลือโขง การวางมือขององค์พระเป็นตัว บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นศิลปะทวารวดีที่คลี่คลายเข้าสู่ความสวยความงามแล้ว เป็นพระนั่งขัดสมาธิราบ สังเกตุการวางมือและเท้าจะแบะออกเหมือนกับแม่พระรอด หรือพระรอดหลวงพระพุทธสิกขีปฏิมาองค์ที่ประดิษฐานหน้าองค์พระประธานในวิหารวัดมหาวัน การวางมือและเท้าในลักษณะเช่นนี้จะมีในลักษณะของศิลปะทวารวดีในยุคแรกๆเท่านั้น พระซุ้มไข่ปลาแบบนี้พบที่เมืองลำพูบและลพบุรี ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสำพันธุ์ระหว่างเมืองทั้งสองถึงความเป็นเมืองพ่อเมืองลูกได้เป็นอย่างดี พระที่พบนี้มีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ ศิลปะงดงามมาก เนื้อจะเป็นดินที่ค่อนข้างละเอียดมีความปราณีตบรรจงของการทำแบบพิมพ์ที่งดงามน่าประทับใจยิ่ง เป็นพระกรุที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขอบนอกทำเป็นลวดลาย 3 ขยัก มีลวดลายประดับโดยรอบ รวมทั้งมีเส้นรัศมีที่ล้อมรอบเม็ดไข่ปลาเล็กๆอีกชั้นหนึ่ง ประทับนั่งสมาธิเหนือบัลลังก์ที่เป็นชั้นสามชั้น ชั้นบนเป็นเส้นยาวเรียบ ชั้นที่สองทำเป็นหยักคล้ายบัวเหลี่ยม ชั้นล่างเป็นบัวหงายมีความงดงามดูขลังอย่างน่าประหลาดขนาดกว้าง 4 ซม. สูง 6 3/4 ซม. หนา 1 1/2 ซม. พุทธศิลป์จัดได้ว่างดงามน่าประทับใจ ควรค่าแก่การสะสมเป็นโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าจริงๆ

 
 

     ภาพที่ 2 พระสามวัดดอนแก้วเป็นพระกรุเนื้อดินเผาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ขนาดก็ยังเล็กกว่าพระสิบสอง พระสิบแปด พระปลีกล้วย ซึ่งก็เป็นพระกรุของเมืองลำพูน ที่เรียกกันว่า “พระสามวัดดอนแก้ว” เนื่องจากแรกเริ่มของการขุด พบพระชนิดนี้ที่วัดดอนแก้วเป็นจำนวนมากและเป็นการขุดพบก่อนในที่แห่งใด จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อนี้เป็นชื่อเฉพาะ แต่ก็มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า”พระตรีกาย” ศิลปะขององค์พระเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานที่เข้ามาฝังรากแน่นในเวลานั้น เป็นภาพของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ประทับอยู่เหนือฐานดอกบัวใต้โพธิบัลลังก์ องค์ตรงกลางทรงเครื่องกษัตริย์ ซึ่งเป็นความหมายที่หมายถืงพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระสามดอนแก้วองค์นี้เป็นพระสีขาวค่อนไปทางสีเนื้อ แต่ที่เห็นเป็นสีแดงเนื่องจากถูกคราบกรุสีแดงหุ้มห่อไว้ ความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย แต่พระองค์นี้ขุดได้ที่บริเวณที่ขุดพบพระลือโขงที่ทุ่งกู่ล้าน ซึ่งคงจะเป็นการนำพาไป พระชนิดนี้ยังพบได้ในที่แห่งอื่นของเมืองลำพูน เช่นที่วัดมหาวัน วัดประตูลี้ วัดพระคง แต่จำนวนพระมีน้อยกว่าวัดดอนแก้ว พุทธคุณดีไปในทางเมตตามหานิยมมีขนาดกว้าง 5 ซม. สูง 7 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 3 พระซุ้มไข่ปลาศิลปะทวารวดีอีกองค์หนึ่ง เป็นพระสีน้ำตาลอ่อน จะเห็นคราบกรุและราดำติดอยู่ทั่วองค์พระ เป็น ความงดงามของศิลปะดูซึ้งตามากหากพิจารณาดูให้ดีเป็นพระกรุที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ไม่หักหรือบิ่นเ งดงามทั้งสีสันและลวดลายขององค์พระที่ดูแปลกตา
พระซุ้มไข่ปลาแบบนี้นอกจากจะพบที่เมืองลำพูนแล้ว ยังมีให้พบที่เมืองลพบุรีอีกด้วย ผู้เขียนมีหลักฐานยืนยันไม่ได้เป็นการยกเมฆเอาเอง พระซุ้มไข่ปลาองค์นี้มีขนาดกว้าง 3 1/2 ซม. สูง 6 ซม. หนา 1 1/2 ซม.
ท่านผู้อ่านได้ชมภาพพระสกุลลำพูน พร้อมทั้งคำอธิบายทั้งหมดรวม 74 องค์ พระกรุดังกล่าวเป็นของผู้เขียน ไม่ได้หยิบยืมใครมา จึงนำเสนอได้อย่างเต็มที่ หากมีความคิดเห็นอย่างใด และต้องการที่จะเห็นพระกรุของเมืองลำพูนที่ขุดพบได้ในชั้นหลัง โปรดแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนยินดีรับฟัง และจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 
 

      ภาพที่ 4 ภาพที่เห็นเป็นภาพของพระสิกขี สีเขียวหินครกที่มีเนื้อแข็งแกร่ง มีหน้าตาที่ดุดันสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวประดับของโบราณสถานเช่นเจดีย์ โบสถ์ วิหาร หรือสถานที่เคารพต่างๆ บางคนเขาเรียกว่าพระพุทธสิกขีปฏิมา องค์พระสวมมงกุฎทรงเทริด ประดับประดาด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อย่างสวยงาม งามอย่างน่าเกรงขาม มีความหมายในทำนองถึงผู้พิทักษ์รักษา บางคนบอกว่ามีหน้าตาดุดันเหมือนยักษ์ มีไรหนวดให้เห็น มือสองข้างยกขึ้นแบออกดั่งเหมือนกับจะห้ามศัตรูหรือภัยร้ายต่างๆ เนื้อของพระสิกขีองค์นี้เป็นเนื้อที่ถูกเผาแกร่ง เนื้อแบบนี้เป็นเนื้อของความนิยมของบรรดาเซียนพระทั้งปวง ดังนั้นพระกรุที่มีเนื้อสีนี้จะเป็นพระที่มีราคาสูงมาก โดยเฉพาะพระกรุต่างๆที่มีเนื้อแบบนี้จะมีความงดงามชัดเจนมากเพราะคงสภาพได้ดีในทุกสภาพอากาศ พระสิกขีที่พบมีรูปแบบมากมาย และมีสีหลากสีเช่น สีแดง สีขาว สีพิกุล สีดำ สีเทา สีน้าตาลเป็นต้น ขุดพบในที่ต่างๆของเมืองลำพูน มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก พุทธคุณทางข่ามคง คงกระพัน กันภูตผีภัยร้ายต่างๆได้ชะงัดนัก ศิลปะขององค์พระถือได้ว่างดงามมาก มีขนาดกว้าง 3 ซม. สูง 4 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 5 พระกรุที่จะนำเสนอต่อไปก็คือพระรอดหลวงของวัดมหาวันลำพุน พระรอดหลวงของวัดมหาวันมีอยู่สองพิมพ์ ที่จะนำมาเสนอให้ได้รู้จักในวันนี้นั้น เป็นหนึ่งพิมพ์ที่ไม่มีใครได้พบเห็น นอกจากในหนังสือรวมสุดยอดพระเครื่องเมืองลำพูน ที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอาไว้

พระรอดหลวงมีลักษณะคล้ายกับพระคงจะแตกต่างกับพระคงก็คือพระรอดหลวงมีเกศแหลม ขึ้นไป และสะดือของพระรอดหลวงจะเป็นเบ้าขนมครกเช่นเดียวกับสะดือของพระรอดวัดมหาวัน ส่วนของพระคงจะเป็นสะดือจุ่นนูน นี่คือจุดสังเกตุและความแตกต่าง

พระรอดหลวงคงจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการล้อพระพิมพ์หนึ่งของวัดพระคง ซึ่งหมายถึงงพระคงทรงเทวดา ดูเหมือนว่าจะเป็นการประชันขันแข่งฝีมือทางเชิงช่างของวัดทั้งสอง เนื้อหาของพระรอดหลวงจะเป็นเช่นเดียวกับเนื้อหาของพระรอด แต่จะมีทั้งที่เป็นเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ

พระรอดหลวงครองจีวรแบบห่มดองแบบหนึ่ง และมีอีกแบบครองจีวรแบบห่มคลุม ความแตกต่างเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ผู้ที่จะเล่นพระกรุจะต้องสนใจเป็นพิเศษ พระรอดหลวงทั้งสองพิมพ์ดังกล่าวจะมีเกศแหลมขึ้นไปข้างบน หน้าจะเป็นลักษณะของเม็ดพริกไทย ลายประดับโดยรอบจะเป็นใบโพธิ์ มีกิ่งและก้านโพธิ์แบบเดียวกับพระคง พระแบบที่ครองจีวรห่มดองจะเห็นร่องจีวรแบบเดียวกับพระรอด อีกพิมพ์หนึ่งที่ครองจีวรแบบห่มคลุม

มีข้อสังเกตุคือทางด้านขวาขององค์พระ ตั้งแต่หัวไหล่จนถึงเข่า จะถูกบีบเข้าหาตัวพระมาก ดูๆเกือบจะเป็นแนวเส้นตรง ลักษณะส่วนอื่นก็จะใกล้เคียงกัน พระรอดหลวงออกจะเป็นพระที่พบเห็นกันน้อยขุดพบที่วัดมหาวันแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทุกวันนี้พระรอดหลวงที่ทำปลอมขึ้นมาก็มีให้เห็น แต่ทั้งเนื้อหาพิมพ์ทรงก็จะแตกต่างกับพระรอดหลวงที่เป็นของแท้มากแต่ให้ระวังกันไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บสะสม

 
 

      ภาพที่ 6 พระที่เห็นนี้เป็นพระที่มีความงดงามขององค์ประกอบในองค์พระ มีความงดงามของลวดลายต่างๆให้เห็นอย่างสมบูรณ์ ศิลปะในองค์พระมีความละเอียดละออด้วยสัญญลักษณ์ต่างๆได้อย่างน่าทึ่งมีรูปลักษณ์แบบปลายนิ้วมือ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานที่ประทับที่เป็นบัวหงายบัวคว่ำ ที่มีความละเอียดงดงามมาก ด้านบนจะเห็นมีลวดลายประดับเป็นรูปใบไม้ และมีรูปเทวดาประณมมืออยู่ทางด้านซ้ายและขวา ถัดลงมาจะมีประสาทที่มียอดตรงปลายแหลมประดับอยู่ ซ้ายมือขององค์พระจะมีพระสาวกที่ยืนทำมือในท่าสมาธิหนึ่งองค์ ทางด้านขวาจะเป็นองค์พระสิวลียืนถือกลดและสะพายบาตรดูมีมิติไปอีกรูปแบบหนึ่ง องค์พระมีขนาดเล็กนิดเดียวแต่ได้บรรจุรายละเอียดต่างๆไว้ในนั้นได้อย่างน่าทึ่งในเชิงความสามารถทางศิลปะที่ลงตัวและงดงามยิ่ง พระองค์นี้ขุดได้บริเวณทุ่งกู่ล้านสถานที่ ที่เคยเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ของเมืองลำพูน ปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรเหลือให้ได้เห็นกันอีกแล้ว เพราะสถานที่ดังกล่าวได้กลายเป็นหมู่บ้านและที่อยู่อาศัยของบรรดาผู้คนไปหมด ขนาดของพระองค์นี้มีความกว้าง 2 ซม. สูง2 1/2 ซม. หนา 1 ซม. ในความเป็นจริงพระต่างๆที่ขุดได้ในเมืองลำพูนยังมีอีกมากมายมหาศาล ทั้งที่เป็นพระเนื้อดินและเนื้อโลหะซึ่งศิลปะในองค์พระต่างๆที่ขุดพบมีความงดงามและแปลกตาชนิดที่ว่าไม่เคยพบในที่ใดๆมาก่อนเลย ซึ่งเราคงจะได้ว่ากันต่อไป