ศิลปะทวารวดีต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทยและพุทธศิลป์ในเมืองลำพูน

ศิลปะทวารวดี เป็นศิลปะต้นอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 - 16. บรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ส่วนใหญ่ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน หากแต่ยังปรากฎหลักฐานการนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานและฮินดูรวมอยู่ด้วย อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่ขยายไปยังภูมิภาคอื่น ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่าศิลปะทวารวดีคือต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย ศิลปะทวารวดีนั้นมีพบในหลายภาค และหลายจังหวัด เช่น กำแพงแสน นครปฐม เมืองลพบุรีหรือละโว้
เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี เมืองคูบัว ราชบุรี เมืองพงตึก กาญจนบุรี
ลุ่มแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก พบที่ ลพบุรี สระบุรี เมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์
ลุ่มน้ำแม่กลอง ที่อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์
ลุ่มน้ำบางปะกง พบที่ ฉะเชิงเทรา เมืองดงละครนครนายก เมืองพระรถ เมืองศรีพะโลชลบุรี เมืองศรีมโหสถ
ปราจีนบุรี ภาคอีสาน พบที่เมืองเสมา เมืองพลับพลา เมืองกงรถ นครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบที่ชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ที่รู้จัก กันดีก็คือเมืองฟ้าแดดสูงยางทางภาคเหนือ ศิลปะทวารวดีพบที่เมืองหริภุญไชย และเมืองบริวารในเชียงใหม่และลำปาง เมืองไตรตรึงส์ กำแพงเพชร
ในเมืองลำพูนหรือ หริภุญไชยนั้น มีการขุดพบพระพิมพ์ พระพุทธรูป รูปเคารพของเทพเจ้าที่มีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะชนิดต่างๆมากมายหลายรูปแบบที่เป็นศิลปะ ศรีวิชัยและทวารวดี ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ชวนให้คิดไปว่า ด้วยอิทธิพลของศิลปะทั้งสองดังกล่าว คงจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดพระพิมพ์และพระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นพุทธศิลป์แบบหริภุญไชยดังที่เห็นในปัจจุบัน และจากพุทธศิลป์อันสำคัญแห่งเมืองโบราณอันเก่าแก่แห่งนี้ยังส่งผลให้เกิดพุทธศิลป์รุ่นหลังๆที่ตามมาอย่างเช่นศิลปะสุโขทัย ศิลปะเชียงใหม่เป็นต้น

มีศิลปะวัตถุต่างๆมากมาย ที่มีการขุดพบในเมืองลำพูนที่ใคร่นำมาเสนอแก่ท่านผู้ที่สนใจใคร่ชม ซึ่งศิลปะวัตถุเหล่านี้เป็นของโบราณอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ โบราณวัตถุหลายชิ้นมีความแปลกหูแปลกตา ชนิดที่ไม่นึกเลยว่าจะมีขึ้นมาให้ได้เห็นในเมืองนี้ โบราณวัตถุต่างๆที่ขุดพบดังกล่าว ผู้เขียนได้เก็บรวบรวมเอาไว้ และจะได้ทะยอยนำออกมาแสดงให้แก่ท่านที่สนใจได้ชมกัน เพื่อให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า
เมืองลำพูนแห่งนี้ก็มีอะไรดีๆให้ได้ชื่นชมกัน

ภาพที่ 1 ที่เห็นนี้เป็นเศียรของพระโพธิสัตว์ทรงมงกุฎที่นิยมเรียกกันว่าทรงเทริด ศิลปะหริภุญไชย เป็นเศียรที่มีความงดงามและสมบูรณ์มาก ศิลปะหริภุญไชยนั้นได้รับอิทธิพลงานพุทธศิลป์แบบมหายานจากเมืองละโว้ ซึ่งถือเป็นเมืองพ่อที่ในเวลานั้น พุทธมหายานได้เจิดจำรัสมีผู้คนเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง ในทั้งสองเมืองที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นระหว่าง ละโว้และหริภุญไชย เป็นที่น่าสังเกตว่าหริภุญไชยนั้นได้รับความรู้และความจัดเจนสืบช่วงมาจากละโว้ ซึ่งขณะนั้นศิลปะละโว้ สมัยทวารวดี เป็นปูนปั้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ความชำนาญในการปั้นปูนของช่างจากละโว้จึงถูกถ่ายทอดมาสู่หริภุญไชยอันเป็นเมืองลูกด้วย ดังนั้นเครื่องปั้นดินเผาที่บรรดาช่างหริภุญไชยได้เรียนรู้จากการปั้นปูนจึงทำให้มีความชำนาญเป็นพิเศษและมีการพัฒนาในเวลาต่อมา สืบเนื่องด้วยวัสดุดินเหนียวมีมากในบริเวณของแหล่งนี้และหาได้ง่ายกว่า อีกทั้งสะดวกต่อการขึ้นรูปซึ่งนอกจากช่างจะปั้นดินให้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยแล้ว ยังได้ปั้นเป็นพระพุทธรูปและรูปคนต่างๆหลากหลายรูปแบบทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมทั้งพระพิมพ์ต่างๆมากมายที่มีชื่อเสียงจนถึงยุคปัจจุบัน ที่เวียงท่ากานอันเป็นส่วนหนึ่งของหริภุญไชยโบราณก็ได้พบชิ้นส่วนพระพักตร์ของพระพุทธรูปดินเผาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เศียรพระโพธิสัตว์ที่เห็นเศียรนี้เป็นเศียรของพระโพธิสัตว์เมตไตรย ทรงมงกุฎที่มีปลายแหลมเสียบซ้อนกันหลายชั้น หน้าผากไม่กว้างมากนัก คิ้วเป็นสันนูนขึ้นมาต่อกันเป็นรูปปีกกา ดวงตาเหลือบมองลงต่ำหางตายาวชี้ขึ้น จมูกกโด่งพอดีกับใบหน้า ปากแย้มยิ้มในทีริมปากเป็นเส้นนูนตรงมุมปากชี้ขึ้น เหนือริมปากบนมีไรหนวดเป็นเส้นเล็กๆ มีสีหน้าที่ดูอ่อนโยนไม่ดุดันแสดงถึงความเมตตา มีขอบไรผมเป็นเส้นๆเหนือหน้าผากริมขอบมงกุฎ ใบหูทั้งสองข้างยาวเสมอกัน ลำคอเห็นชัดเจน ใบหน้าของพระโพธิสัตว์เมตไตรยนี้ดูอิ่มเอิบมองเห็นปลายคางมนน่านิยมดี งานปั้นต่างๆของหริภุญไชยนับว่ามีความชำนาญยิ่ง พระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ที่มีขนาดใหญ่นั้นได้ทำเป็นพิมพ์โดยแบ่งแยกทำเป็นส่วนๆแล้วนำมาประกอบกัน โดยมีรูไว้สำหรับเสียบไม้ให้เป็นแกนยึดของโครงร่าง เมื่อแต่ละชิ้นส่วนทำเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำมาประกอบเป็นองค์ แล้วจึงจะตกแต่งให้เรียบโดยใช้ตัวประสานทำให้เรียบสนิทแล้วนำไปประดิษฐานในซุ้มของเจดีย์ หรือตามโบราณสถานต่างๆอันเป็นสถานที่เคารพให้งดงามลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบเศียรพระโพธิสัตว์เมตไตรยเศียรนี้ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน ส่วนองค์ลำตัวคงจะแตกหักทำลายไปมีขนาดความกว้าง 7 ซ.ม.. สูง 12 ซ.ม. หนา 5 1/2ซ.ม.

ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระพิมพ์ที่มีการขุดพบในเมืองลำพูน ซึ่งยังไม่เคยมีการนำออกมาเผยแพร่ให้เห็น รูปลักษณะของพระพิมพ์องค์นี้เป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางประทานอภัย ประทับนั่งแบบขสมาธิราบบนฐานดอกบัว การห่มจีวรนั้นเป็นการห่มคลุมแนบเนื้อ ใบหน้ากลมรีมีหน้าผากที่กว้าง คิ้วเป็นรูปปีกกาติดต่อกันเป็นสันนูน จมูกบานใหญ่ ดวงตายาวรีหางตาตวัดขึ้นเล็กน้อย ปากหนาดูแย้มยิ้มมุมปากมีรอยหยักบุ๋มลงไปตรงส่วนปลายของปากจะชี้ชันขึ้น ขมวดผมใหญ่ อุษณีษะหรือส่วนของกระโหลกศรีษะที่นูนขึ้นกลางศรีษะเป็นทรงกรวยรัศมีทรงกลม มีประภามณฑลเป็นเส้นยาวอยู่รอบองค์พระ ลักษณะเป็นแบบเดียวกับเส้นประภามณฑลของพระลือหน้ามงคลวัดประตูลี้ มีสถูปเจดีย์อยู่สองข้าง เหนือขึ้นไปเป็น พัด แส้ กลด ตอนบนสุดเหนือพระเศียรนั้นกั้นด้วยฉัตร หูทั้งสองยาวจรดบ่า มือขวาแบมือออกยกขึ้นแนบติดกับลำตัวด้านขวา เห็นฝ่ามือและนิ้วมือชัดเจน ทางมือซ้ายนั้นวางทอดลงมาเป็นสามจังหวะลักษณะเดียวกับการวางมือของพระรอดวัดมหาวัน ฝ่ามือจะวางลงบนหน้าตัก วางแบะตรงเหนือฝ่าเท้าซ้ายที่จะวางแบะออกเป็นแบบของศิลปะทวารวดีตอนต้น ฝ่ามือและฝ่าเท้านั้นจะดูใหญ่ ตรงข้อมือขวาจะเห็นเส้นจีวรพาดลงมา ส่วนตรงข้อเท้าจะเห็นขอบจีวรทั้งสองข้างอย่างชัดเจน ตรงส่วนเอวจะเห็นเป็นเส้นรัดประคตเป็นเส้นเล็กๆ พระพิมพ์แบบนี้มีให้เห็นเป็นสองแบบ เรียกกันว่า “พระกลีบบัว”อันเป็นลักษณะนามคือเรียกตามรูปลักษณะขององค์พระโดยรวม พระกลีบบัวอีกแบบหนึ่งประทับนั่งปางสมาธิองค์ประกอบนั้นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย พระกลีบบัวนี้ขุดพบได้ในเมืองลำพูนที่วัดกู่ละมัก กู่เหล็ก มีความแปลกอย่างหนึ่งที่มีพระกลีบบัวเนื้อดินที่ทำเป็นพระสองหน้า ด้านหนึ่งทำเป็นพระกลีบบัวส่วนอีกด้านหนึ่งทำเป็นท้าวกุเวร พระสองหน้าดังกล่าวขุดได้ที่กู่เหล็ก เช่นกัน พระกลีบบัวที่ขุดพบมีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ
และยังมีการขุดพบในต่างจังหวัดหลายแห่งเช่นที่นครปฐม ลพบุรี ราชบุรี พุทธศิลป์เป็นศิลปะทวารวดี ขนาดขององค์พระมีความกว้าง 3 ซ.ม. สูง 5 1/2 ซ.ม. หนา 1ซ.ม.มีความสมบูรณ์ไม่หักบิ่นตรงส่วนใด

 


ภาพที่ 3 เป็นภาพของท้าวกุเวร ที่มีการยอมรับกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ท้าวกุเวรนี้ส่วนมากจะพบเห็นทางภาคใต้ แต่ที่มีการขุดได้ในเมืองลำพูนนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกแสดงว่าในสมัยก่อนคงจะมีการเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างเมืองใต้กับเมืองเหนือเรา และคงได้มีการนำติดตัวมาในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ท้าวกุเวรองค์นี้เป็นเทพที่มีรูปร่างอวบอ้วน พุงพลุ้ยใหญ่ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาบนฐานของดอกบัวเล็บช้างทรงกลม หลับตาพริ้มอย่างมีความสุข มีไหใส่เงินขนาดใหญ่อยู่ทางด้านหลังสองใบ ตรงด้านล่างข้างเท้าขวาอีกหนึ่งใบ สังเกตมือขวาวางพาดลงมายังเข่าขวาและจับส่วนบนของถุงเงินไว้ท้าวกุเวรนี้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินเป็นราชาของเหล่าบรรดายักษ์และเป็นเทพที่อยู่ประจำทิศเหนือเป็นเทพที่นำเอาความมั่งคั่งมาสู่ผู้ที่เคารพบูชากันมักจะทำเป็นรูปลักษณ์ของบุรุษที่มีอุทรใหญ่นั่งคุมถุงเงินไว้ ท้าวกุเวรนี้ถือกันว่าบูชาเพื่อให้เกิดโชคลาภและความร่ำรวยเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและการค้าขายต่างๆ ในท้องถิ่นของเมืองลำพูนในสมัยก่อนๆนั้นเขาจะเรียกท้าวกุเวรนี้ว่า”พระลุก” ซึ่งก็เป็นการเรียกตามลักษณะนามนั่นเอง ความหมายก็คือหมายถึงอากัปกิริยาท่าทางนั้นเหมือนกับว่าจะเตรียมตัวลุกขึ้นจริงๆ ท้าวกุเวรองค์นี้เป็นเนื้อสำริดสนิมเขียวเปรียบเทียบได้กับท้าวกุเวรปูนปั้นที่เจดีย์จุลประโทนจังหวัดนครปฐม คงสร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 12 – 13 ขุดพบที่บริเวณ กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูนมีขนาดกว้าง 6 ซ.ม. สูง 7 1/2 ซ.ม. หนา 1ซ.ม. ตรงส่วนฐานหนา 1 1/2 ซ.ม. ท้าวกุเวรที่ขุดพบในเมืองลำพูนนั้นมีหลายรูปแบบที่พบมีทั้งที่เป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะอีกทั้งมีขนาดหลายขนาดทั้งใหญ่และเล็ก ที่เป็นองค์แบบเทวรูปก็มี โอกาสต่อไปจะนำมาให้ได้ชมกัน

 


ภาพที่ 4 เป็นภาพของท้าวกุเวรอีกแบบหนึ่งที่มีเนื้อเป็นดินเผา ท้าวกุเวรองค์นี้ทรงเครื่องเต็มยศ ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาอีกรูปแบบหนึ่งแตกต่างจากภาพที่สาม เป็นการนั่งลำลองแบบพระราชาคือนั่งแบบสบายๆ การนั่งนั้นนั่งชันเข่าซ้ายขึ้น มือซ้ายวางบนเข่าซ้าย เท้าขวาพับลงมาแบบสมาธิราบ มือขวากำมือวางอยู่บนหน้าขาขวามีใบหน้าที่กว้างสมกับเป็นเทพแห่งผู้มีอันจะกินส่งรอยยิ้มนิดๆตามลักษณะของผู้ที่ใจดีมีเมตตา ท้าวกุเวรองค์นี้ขุดได้ที่วัดจามเทวีอำเภอเมืองลำพูน รอบๆเศียรด้านหลังจะเป็นประภามณฑลที่ทำเป็นลวดลายผักกูดประดับอยู่ประภามณฑลนี้หักชำรุดเล็กน้อย แต่ก็ยังความสมบูรณ์ให้เห็นเต็มองค์ มีขนาดความกว้าง 11 ซ.ม. สูง 15 ซ.ม.ส่วนหนา 2 1/2ซ.ม.

 


ภาพที่ 5 เป็นเศียรของพระพุทธรูปเนื้อดินเผาศิลปะหริภุญไชยอีกแบบหนึ่ง ที่ทำขึ้นโดยการกดจากแม่พิมพ์ ที่ต้องกดจากแม่พิมพ์นั้นคงจะเป็นเพราะทำขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องการที่จะให้เป็นรูปแบบเดียวกันจึงต้องใช้วิธีกดพิมพ์เอา เศียรนี้จะมีรูปหน้าเป็นเหลี่ยม หน้าผากกว้าง คิ้วจะเป็นรูปปีกกานูนเด่นขึ้นมา ดวงตายาวรีเหลือบลงต่ำ จมูกค่อนข้างเล็ก ริมฝีปากเป็นเส้นนูนตรงมุมปากส่วนปลายจะชี้ขึ้น มีไรหนวดให้เห็นอันเป็นนลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะหริภุญไชย เม็ดพระศกทำเป็นตุ่มเล็กๆเรียงไปทั่งทั้งเศียรจนดูแน่นเห็นชัดเจนมีขอบเกศาเป็นเส้นนูน ดูสีพระพักตร์ของเศียรพระองค์นี้อ่อนหวานมีเมตตาสูง ยิ้มนิดๆ ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูนใกล้กับบริเวณที่เจดีย์องค์เดิมปลักหักพังลง มีขนาดความกว้าง5 ซ.ม. สูง 7 ซ.ม. หนา 3 ซ.ม.

 


ภาพที่ 6 เป็นเศียรที่มีความแปลกมากเศียรหนึ่ง ของบรรดาเศียรที่ขุดพบในเมืองลำพูน ให้สังเกตดูตรงส่วนบนของเศียรที่นูนพองออกมาและทำเป็นลวดลายเหมือนกับสวมด้วยหมวกที่ถักทอไหมพรม เศียรนี้จัดได้ว่ามีความงดงามและสมบูรณ์มาก คิ้วเป็นรูปปีกกาไม่นูนหรือเป็นสันที่หนามาก ดวงตาทั้งสองหลับพริ้ม จมูกโด่งเป็นสันงามรับกับใบหน้าพอดี ปากดูหนายิ้มนิดๆเห็นร่องปากชัดเจน ตรงส่วนปลายของมุมปากตวัดชี้ขึ้นเล็กน้อย เห็นคางนิดๆ ใบหน้าดูมนไม่กว้างมาก ใบหูดูใหญ่และยาวลงมา ส่วนลำคอเห็นชัดเจนดี เศียรนี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน มีความกว้าง6 ซ.ม. สูง 9ซ.ม. หนา ซ.ม.เป็นเนื้อดินเผา

 


ภาพที่ 7 เป็นเศียรพระพุทธรูปเนื้อดินเผาสีแดง เม็ดพระศกเป็นเม็ดทำเป็นตุ่มเล็กๆเรียงไปทั่วทั้งเศียร มีอุณาโลมอยู่ตรงกลางหน้าผาก คิ้วเป็นรูปปีกกา ดวงตาเหลือบลงต่ำ จมูกเป็นสัน ปากไม่หนามากยิ้มนิดๆ หน้าเป็นรูป
ไข่ หูทั้งสองข้างใหญ่พองาม ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน มีส่วนกว้าง 5 ซ.ม. สูง 7 1/2 ซ.ม. หนา 3ซ.ม.

 


ภาพที่ 8 เป็นเศียรของพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า “แม่พระรอด” ลักษณะของเศียรนี้บ่งบอกถึงความเป็นศิลปะทวารวดีอย่างชัดแจ้งจะสังเกตได้จาก มีเม็ดพระศกที่ใหญ่ ปากหนา ตาโปน คิ้วนูนเด่นเป็นรูปปีกกา จมูกบานใหญ่ หูยาวใหญ่ หน้าตาขมึงทึง ประภามณฑลโดยรอบทำเป็นบัวเม็ดที่เรียกกันว่าบัวซุ้มไข่ปลา เศียรนี้มีความแปลกที่ว่า ทำเป็นเศียรเดี่ยวๆ แต่ที่ทำเป็นองค์พร้อมก็มีปรากฎให้เห็น เป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เหมาะแก่การขึ้นหิ้งไว้เป็นพระบูชา เศียรนี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน มีขนาดกว้าง 5 1/2 ซ.ม. สูง 8 ซ.ม. หนา 2 1/2 ซ.ม..

 


ภาพที่ 9 เป็นเศียรที่ดูแปลกมากเศียรหนึ่ง มีจมูกที่โตเห็นรูจมูกทั้งสองอย่างชัดเจน วงหน้าเป็นรูปไข่ ดวงตาทั้งสองหลับพริ้มเหลือบลงต่ำ คิ้วเป็นแบบธรรมดาโก่งทั้งสองข้าง ผมนั้นเกล้าขึ้นไปข้างบนเป็นสองชั้น ชั้นบนสุดดที่เป็นยอดแหลมนั้นคงจะเป็นเครื่องประดับ เม็ดพระศกนั้นทำเป็นตุ่มกลมรอบเศียร ไม่มีใบหูปรากฎให้เห็นเท่าที่สังเกตดูคิดว่าคงจะเป็นฝีมือของช่างชาวบ้าน เศียรนี้ขุดได้ที่บริเวณ “กู่พระลบ”ใกล้ๆกับหนองสะเหน้า
อำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 5 ซ.ม. สูง 8 1/2 ซ.ม. หนา 3 1/2 ซ.ม.

 


ภาพที่ 10 เป็นภาพของเศียรที่เป็นศิลปะหริภุญไชยที่มีใบหน้าเป็นรูปไข่ ส่วนบนของเศียรกลมมนไม่มี อุษณีษะคือส่วนของกระโหลกศรีษะที่นูนขึ้นกลางศรีษะอันเป็นสัญญลักษณ์ของมหาบุรุษ สันนิษฐานได้เป็นสองประการคือ อาจจะเป็นเศียรของพระสาวกหรือเป็นเศียรของพระศรีอารยะเมตไตรยในพุทธศาสนามหายาน ใบหน้าดูเคร่งขลึม คิ้วหนาชนกัน เป็นรูปปีกกา ดวงตาใหญ่เหลือบลงต่ำ จมูกบาน เห็นริมปากที่เม้ม มีพรายปากที่ส่วนปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย ส่วนคางดูสั้น มองเห็นลำคอชัดเจน หูทั้งสองแนบชิดติดกับใบหน้า เป็นเศียรที่ดูแปลกอีกเศียรหนึ่ง ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน มีความกว้าง 5ซ.ม. สูง 8 1/2 ซ.ม. หนา 4 ซ.ม.

 


ภาพที่ 11 เป็นภาพของเศียรพระสาวก เป็นเศียรขนาดย่อม เม็ดพระศกทำเป็นเม็ดกลมทั่วทั้งเศียรมีขอบไรพระศกให้เห็น หน้าผากกว้าง ใบหน้ากลม มน คิ้วเป็นรูปปีกกา ดวงตาเบิกกว้าง จมูกไม่ใหญ่นัก ปากยิ้มมุมปากชี้ชันขึ้น ใบหูแนบชิดกับใบหน้า ซึ่งกลมมน ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน มีขนาดกว้าง 4ซ.ม. สูง 4 1/2ซ.ม.หนา 3ซ.ม.


ภาพที่ 12 เป็นภาพของเศียรที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นเศียรที่มีความแปลก ที่มีหน้าเป็นรูปไข่ เกศเกล้าขึ้นเป็นมุ่นมวยผมชั้นเดียว ส่วนบนมีเครื่องประดับเป็นกรวยแหลม เม็ดพระศกทำเป็นเม็ดกลมทั่วทั้วเศียร คิ้วโก่งเหมือนคิ้วคนธรรมดา ดวงตาหลับพริ้ม เปลือกตาโปนนูน จมูกโด่งเป็นสัน ปากเม้มสนิท ใบหูเห็นอยู่ข้างเดียว อีกข้างคงจะหักหายไป เศียรนี้คงจะเป็นฝีมือของช่างชาวบ้านทำขึ้นมา มีความกว้าง 3 1/2ซ.ม. สูง 5ซ.ม. หนา 2 1/2 ซ.ม.ขุดได้ที่กู่พระลบ บริเวณใกล้กับหนองสะเหน้าอำเภอเมืองลำพูนสำหรับครั้งนี้ขอเสนอให้ท่านได้ชมเพียงแค่นี้ก่อนหากท่านที่สนใจใคร่ชมโปรดอดใจติดตามได้ในตอนต่อไป