พระลือหน้ามงคลลำพูน โดย สำราญ กาญจนคูหา

ปัจจุบันนี้ ผู้คนที่นิยมสะสมพระเครื่อง ได้หันมาให้ความสนใจในพระกรุกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระกรุนั้นมีความงดงามทางศิลปะ รวมทั้งอายุการสร้าง ที่มีมาอย่างยาวนานและมีความเป็นมาที่น่าสนใจอันเกี่ยวโยงกับประวัติศาตร์ทางศิลปะของบ้านเมืองและการพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระกรุของพระชุดสกุลลำพูน แม้ว่าในปัจจุบันนี้เกือบจะกลายเป็นพระกรุที่หายาก และมีราคาที่ค่อนข้างสูงแล้วก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องราวของพระกรุต่างๆในชุดสกุลลำพูนยังมีอีกมากที่มีผู้ให้ข้อมูลต่างๆที่ผิดไม่ตรงกับความเป็นจริง และมีอีกหลายแบบหลายอย่างที่ไม่ได้นำออกมาเสนอให้ท่านผู้อ่านและท่านที่สนใจได้รู้ได้เห็น จึงมีความตั้งใจที่จะนำเอาสิ่งเหล่านั้นออกมาเผยแพร่ให้ได้รู้ พร้อมกับคำอธิบายในรายละเอียดต่างๆให้ได้รู้และเข้าใจกันอย่างดี ในครั้งนี้จะนำเสนอเรื่องของพระกรุ ที่เรียกกันว่า “พระลือหน้ามงคล”

พระลือหน้ามงคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “พระลือหน้ามงคลกรุวัดประตูลี้” ซึ่งรวมทั้ง “พระลือหน้ามงคลกรุกู่เหล็ก” ซึ่งบริเวณวัดทั้งสองอยู่ไม่ห่างกันมากนัก “กู่เหล็ก” เป็นบริเวณส่วนหนึ่งของทุ่งกู่ล้าน ที่เคยเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ในสมัยโบราณ ปัจจุบันได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร โรงเรียนและบ้านคนไปแล้ว วัดประตูลี้และกู่เหล็กตั้งอยู่ในโซนทิศใต้ ไม่ห่างไกลกันมากนัก ความสำคัญของวัดประตูลี้ก็คือ เป็นวัดหนึ่งในสี่ของวัดสี่มุมเมือง ที่พระนางจามเทวีได้โปรดให้สร้างขึ้น ในยุคแรก ของการเข้ามาปกครองเมืองหริภุญไชย ส่วนกู่เหล็กในเวลานั้นคงจะเป็นวัดที่อยู่ในชุมชนใหญ่ที่มี “พระยาแขนเหล็ก” นายทหารเอกของพระนางจามเทวีเป็นหัวหน้าอาศัยอยู่ วัดทั้งสองแห่งนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันเลยการขุดพบของต่างๆ ที่เป็นศิลปะวัตถุ ในที่แห่งนี้จึงมีมากมาย หลายรูปแบบและเป็นของที่เกิดขึ้นในยุคแรกของเมืองโบราณแห่งนี้ ตอนแรกๆของการขุดพบพระลือหน้ามงคลและพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมในบริเวณวัดประตูลี้ พระทั้งสองอย่างรวมทั้งพระชนิดอื่นๆที่ขุดพบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบ เป็นเนื้อดินที่มีเม็ดแร่ กรวดทรายเล็กๆปะปนอยู่ในเนื้อดินขององค์พระ แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพระกรุวัดประตูลี้ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีที่ใดเหมือน
สำหรับพระลือหน้ามงคลที่ขุดได้ที่กู่เหล็กจะมีเนื้อขององค์พระที่ค่อนข้างจะละเอียด มีความแน่นของเนื้อดินและมีน้ำหนักมากกว่าอย่างที่รู้สึกเมื่อจับต้องและนำมาเปรียบเทียบกัน และพิมพ์ของพระลือหน้ามงคลทั้งสองงแห่งก็มีข้อแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยบางจุดเท่านั้นแต่ภาพโดยรวมก็คล้ายคลึงกันมาก ในสมัยก่อนๆมีคำนิยามของผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงพระลือหน้ามงคลว่า “หากไม่มีพระรอดวัดมหาวัน
ให้ใช้พระลือหน้ามงคลแทนก้ได้ พุทธคุณเหมือนกัน” จากคำกล่าวนี้ทำให้ทราบว่า เรื่องพุทธคุณของพระลือหน้ามงคลนั้นไม่ได้เป็นรองพระรอดหรือพระกรุอื่นใดเลย

พระลือหน้ามงคลมีลักษณะคล้ายปลายนิ้วมือ มีขนาดใหญ่กว่าพระคงและพระบางเล็กน้อย แต่จะมีขนาดย่อมกว่าพระเปิม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน โดยส่วนใหญ่ของพระลือหน้ามงคล ด้านหลังจะอูมนูนเหมือนเม็ดขนุนหรือหลังเต่า และจะดูอูมหนากว่าด้านหลังของพระคงและพระบาง แต่ชนิดที่หลังไม่อูมหนาก็มีไม่น้อย

พิมพ์ของพระลือหน้ามงคล มีหลายพิมพ์ เช่นพระลือแผง ที่ภาษาท้องถิ่นเขาเรียก พระลือชนิดนี้ว่า”พระลือข้าวควบ” พระลือชนิดนี้จะเป็นการนำเอาพระลือหน้ามงคลเป็นองค์ๆวางเรียงกันในแผ่นของดินที่ทำเป็นแผ่นกลม
แบนๆคล้ายใบบัวติดจนแน่นแล้วนำไปเผาไฟให้สุก คงจะนำไปเป็นบัวประดับตามสถานที่สำคัญเพื่อเป็นลวดลายประดับ ภายหลังโบราณสถานนั้นปลักหักพังลงจมในดิน ผู้คนที่ขุดได้พระลือแผงชนิดนี้ มักจะนำไปตัดตกแต่งให้เข้ารูป ทำเป็นองค์ ๆ แล้วนำไปฝนให้เรียบร้อยตกแต่งให้สวยงามเข้ารูปนำไปเลี่ยมหรืออัดพลาสติก แล้วนำติดตัวไป เป็นด้วยความเชื่อมั่นในพุทธคุณ นิยมกันว่ามีพุทธคุณทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด สมกับชื่อของพระลือหน้ามงคล

พระลือหน้ามงคลพิมพ์เดี่ยว มีกันหลายบล็อก เช่น พิมพ์อวบอ้วน พิมพ์องค์เอียง และพิมพ์ธรรมดาที่ถือกันว่าเป็นพิมพ์นิยม พระลือหน้ามงคลในแต่ละพิมพ์นั้นจะมีความแตกต่างกันบ้างเพียงบางส่วนซึ่งลักษณะโดยรวมก็คือพระลือหน้ามงคลนั่นเอง แต่ที่แยกออกเป็นแต่ละพิมพ์นั้นก็เพื่อให้รู้ว่า พระลือหน้ามงคลนั้นไม่ได้มีเพียงพิมพ์เดียวหรือบล๊อกเดียว ที่สำคัญท่สุดคือเป็นพระลือหน้ามงคลที่แท้และถึงยุคหรือไม่ มีข้อสังเกตรายละเอียด ของลักษณะ พิมพ์ทรง ตามจุดต่างๆสำหรับพระลือหน้ามงคลที่ติดพิมพ์ชัดเจน

1. รูปหน้าของพระลือหน้ามงคล จะมีลักษณะคล้ายผลแตงโม แก้มจะดูเอิบอิ่มเป็นลักษณะของความมีเมตตา

2 .เศียรของพระลือหน้ามงคล มองดูจะเป็นแบบเศียรโล้น แต่จะมีไรพระศกอย่างชัดเจน เป็นกรอบของรูปหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีเม็ดพระศก หากมีก็ไม่ใช่พระแท้

3. คิ้ว มองดูเป็นคัน คล้ายคิ้วของคนจริงๆ แต่จะมีลักษณะเป็นรูปปีกกา นูนออกมาชัดเจน

4 . ตาเป็นลักษณะของตาเนื้อ ไม่ใช่ตาแกะ ไม่ โปนมาก ตาจะเหลือบต่ำเป็นตาของความเมตตากรุณา

5 .จมูก มีขนาดพองามรับกับใบหน้าได้อย่างลงตัว ข้างจมูกจะเป็นร่อง เห็นแก้มชัดเจน

6 . ปากจะเห็นร่องปากทั้งด้านบนและล่าง ลักษณะเหมือนกับยิ้มนิดๆ

7. คางดูมนไม่แหลมมาก และไม่ยื่นออกมามาก เพราะ ไม่ถูกครูดกับพิมพ์จนเสียรูป

8 .ลำคอ จะเห็นเพียงลางๆ ไม่เป็นลำชัดเจน มองดูไม่น่าเกลียดดูลงตัวได้ดี

9 .ใบหูของพระลือหน้ามงคล งามเรียบร้อยเหมือนหูคนจริงๆ เห็นติ่งหู และเป็นใบหูที่งามมาก

10 .อกพระลือ ไม่ใหญ่มากจนดูเทอะทะ ประทับนั่งอย่างสง่า จากไหล่ทั้งสอง ที่วางในแนวเสมอกัน ทำให้องค์พระมีท่าที สบายๆ ไม่เกร็ง จะเห็นรอยเส้นจีวร ตรงใต้ราวนมขวาโค้งขึ้นไปตรงไหล่ซ้าย มีสังฆาฏิพาดลงมาตรงหน้าท้อง

11 .ส่วนท้องของพระลือหน้ามงคล ไม่เหมือนกับส่วนท้องของพระชนิดอื่นๆ ดูเป็นธรรมชาติ ท้องไม่ป่อง หรือแบนราบจนเกินงาม มีความเป็นธรรมชาติพอดี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว

12 .สะดือของพระลือหน้ามงคลไม่เห็น พระลือห่มจีวรแบบห่มดอง มีรอยเส้นจีวรจากใต้ราวนมขวา โค้งขึ้นไปตรงไหล่ซ้าย ขอบจีวรไม่ลงลึกเหมือนขอบจีวรของพระรอด มีสังฆาฏิ พาดลงมาจากบนไหล่ซ้ายลงมาตรงหน้าท้อง ค่อนไปทางขวาขององค์พระ ลักษณะการห่มจีวรนั้นจะแนบเนื้อ เป็นพุทธศิลป์แบบพุทธมหายานซึ่งจะเป็นแบบนี้

13 . ไหล่ไม่ยกสูงมาก เป็นแบบธรรมดา พระลือหน้ามงคลเป็นที่มีมิติที่ดีมาก ไหล่ไม่กว้าง ไม่แคบ มีความสง่างามที่ลงตัวได้ดี องค์พระดูโปร่งตาสบายๆ

14 .แขนขวาวางทอดลงมาอย่างสบาย คล้ายการวางแขนของพระชุดสกุลลำพูนทั่วไป มีจังหวะที่ดูนิ่มนวลไม่แข็งทื่อ มือขวาจะวางบนเข่าขวา ปลายนิ้วจะแตะกับพื้นของฐานเหนือดอกบัวมองเห็นนิ้วมือ

15 .แขนซ้ายเริ่มจากหัวไหล่ ซ้าย ถึงข้อศอก แขนกางออกเล็กน้อยพองาม วางพาดลงบนหน้าตัก สังเกตการวางแขนของพระลือหน้ามงคล ไม่เหมือนกับการวางแขนของพระคง พระบาง จะไปใกล้เคียงกับการวางแขนซ้ายของพระรอดมากกว่า ลองพิจารณาดู แขนวางพาดอย่างสบายๆไม่เกร็ง มองเห็นชายจีวร ใกล้กับข้อมือซ้าย ซึ่งย้อยลงมาตรงปลายเท้าขวาพอดี

16 .การประทับนั่ง พระลือหน้ามงคลประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร มองเห็นฝ่าเท้าที่ทอดยาววางบนขาซ้ายชัดเจน ส่วนทางขาซ้ายจะสอดเท้าขึ้นไป ปลายเท้าซ้ายจะโผล่ตรงใกล้กับแขนขวา ที่วางทอดลงมา ส่วนของส้นเท้าซ้ายจะอยู่ตรงปลายมือซ้าย

17 .พระลือหน้ามงคล มีเส้นซุ้มรัศมีโดยรอบองค์พระ ที่ทำไม่เหมือนกับพระพิมพ์อื่นๆของพระชุดสกุลลำพูนทั่วไป โดยจะทำเป็นแนวของเส้นเ ดียวตลอด เริ่มจากทางด้านซ้ายขององค์พระ เส้นซุ้มจะเริ่มจากเหนือเข่าซ้าย ใกล้ข้อศอก เป็นแนวตั้งติดกับผนัง วิ่งไล่ขึ้นไปห่างจากลำแขนพองาม ไปหักตรงมุมของหัวไหล่ซ้าย แล้วทำเป็นซุ้มโค้งรอบเศียร มีจังหวะที่ห่างออกมาพองาม หักมุมตรงไหล่ขวาแล้วโค้งไปตามแนวของหัวไหล่ขวาแล้วพุ่งดิ่งลงมา กลืนหายไปกับพื้นผนังตรงเหนือข้อศอกขวา เส้นซุ้มรัศมีนี้จะไม่หนาหรือบางมากจนเกินไปเรียกว่าพองาม เส้นซุ้มนี้คงได้รับอิทธิพล จากพระกลีบบัว ซึ่งเป็นพระพิมพ์ของยุคทวารวดีที่มีลักษณะของเส้นซุ้ม เป็นเส้นเดียวโดยตลอดเช่นเดียวกัน พระกลีบบัวนี้ก็เป็นพระกรุที่ขุดพบในเมืองลำพูนเช่นกัน

18 .ผ้าทิพย์ หรือผ้าปูอาสนะของพระลือหน้ามงคลนั้นมีลักษณะโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ทำค่อนข้างหนา ขอบไม่คมต่างกับผ้าทิพยืของพระเปิม ประดับอยู่ใต้ตัก บนฐานที่ประทับกึ่งกลางพอดีกับขาทั้งสองไขว้กันไม่ขาดไม่เกิน

19 .ฐานของพระลือมีลักษณะเฉพาะตัวทำเป็นฐานสามชั้น ฐานบนสุดทำเป็นบัวเหลี่ยมเป็นคู่ๆ บน ล่าง มีส่วนคล้ายกับฐานของพระเลี่ยงพิมพ์บัวเหลี่ยมแต่ไม่เหมือนเลยทีเดียว บัวฐานของพระลือจะเป็นลักษณะของบัวคว่ำบัวหงาย บัวจะเรียงกันเป็นแถวยาวจากด้านในผนังด้านข้าง อ้อมโค้งนูนออกมาตามส่วนนูนของฐานด้านหน้า จากทางขวาขององค์พระอ้อมไปทางซ้าย คืออ้อมไปจรดผนังของอีกด้านหนึ่ง

20 .ฐานชั้นกลางทำเป็นเส้นนูนเล็กๆอยู่ติดกับบัวเหลี่ยม มองดูเหมือนกับเป็นขอบฐานที่มีบัวเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานชั้นกลางนี้ ซึ่งเป็นฝีมือเชิงช่างที่ทำฐานตรงนี้อย่างเรียบง่าย ไม่รุ่มร่ามเลอะเทอะพอดีพองาม

21. ฐานชั้นล่างสุดทำเป็นคันหนา เพื่อเป็นที่รองรับองค์พระทางส่วนบนให้ดูสง่างาม มีมิติและมีความเรียบร้อยงดงามในเชิงศิลปะขององค์ประกอบโดยรวม

22 .ลวดลายประดับ ดดยรอบขององค์พระลือหน้ามงคล จากการสังเกตและพิจารณาอย่างละเอียดโดยเฉพาะ
ลวดลายประดับ ของพระลือหน้ามงคลและพระลือโขงนั้น มีอิทธิพลของพุทธศิลป์ทางฝ่ายพุทธมหายาน เข้าไปผสมผสานอย่างเต็มที่ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตำนานที่อ้างถึงพุทธนิกายมหายานได้เข้าไปมีอิทธิพล
ทั้งในเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองพ่อ และหริภุญไชยที่เป็นเมืองลูก เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งสองเมืองต่างมีความผูกพันและเกี่ยวพันกันในทุกๆด้าน การถ่ายทอดทางศิลปะนั้นได้ส่งอิทธิพลถึงกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพุทธศิลป์ของทางฝั่งนิกายพุทธมหายาน เราจะสังเกตเห็นจากลวดลายประดับขององค์พระต่างๆของพุทธศิลป์มหายานจะเน้นไปที่ลายของดอกบัว เป็นต้นว่าดอกบัว เกษรบัว ก้านบัว กลีบบัว ใบบัวเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดไม่ได้ จากเหตุนี้ เรามาดูลวดลายประดับของพระลือโขงก่อน จะเห็นได้ว่า เกือบทุกส่วนที่ประดับโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโขง รัศมีด้านบน เสาประดับด้านข้าง ฐานที่ประทับ แม้แต่ผ้าทิพย์ก็เป็นลวดลายของดอกบัว ก้านบัว กลีบบัวและใบบัวโดยสิ้นเชิง พระลือโขงนั้นถือได้ว่าเป็นพระตระกูลพระลือที่มีความงดงามอลังการ์มาก นี่คือพุทธศิลป์ของทางฝ่ายมหายาน เรามาดูทางด้านพระลือหน้ามงคลกัน ตรงฐานที่เป็นบัวแก้วสองชั้น ก็คือลวดลายของดอกบัว ให้สัง เกตลวดลายที่ประดับโดยรอบขององค์พระด้านบนสุด จะเห็นเก้านช่อดอกบัวเป็นจุดกึ่งกลางที่สมมุติ เป็นจุดแบ่งลวดลายประดับออกเป็นสองข้าง เช่นเดียวกับการแบ่งกลุ่มโพธิ์ของพระรอด ในแต่ละข้างของพระลือหน้ามงคล คือทางด้านซ้ายและทางด้านขวา เราจะแบ่งเป็นช่องๆ โดยมีก้านดอกบัวที่ยาวเป็นตัวคั่น ก็จะแบ่งออกได้เป็น ข้างละ6 ช่อง ในแต่ละช่องนั้น ถ้าจะดูอย่างคล่าวๆ ก็จะนับดอกบัวที่มีลักษณะกลมๆ ได้ช่องละ 2.ใบ ให้สังเกตดูให้ดีว่าเป็นลักษณะของดอกบัว ก้านบัว ใบบัว ไม่ใช่เป็นกิ่งโพธิ์ ก้านโพธิ์ หรือใบโพธิ์ ตามที่มีผู้ที่เข้าใจกันเช่นนั้น ดังนั้นการที่บางท่านได้บอกไว้ว่า พระลือหน้ามงคลมีลวดลายประดับเป็นกลุ่มโพธิ์จึงไม่ถูกต้อง นี่เป็นข้อมูลใหม่ที่ขอนำเสนอให้ท่านได้พิจารณาดูให้ดี

ตามที่ อาจารย์ น.ณปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ท่านได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ“หริภุญไชย มงกุฏแห่งล้านนา”ในหนังสือ”ศิลปะโบราณในสยาม” ท่านได้เปรียบเทียบ พระพุทธรูปยืนที่เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี ซึ่งมีพระเศียรพองออก ลักษณะเดียวกับพระลือโขง ว่ามีลักษณะคล้ายศิลปะของขอมแบบแปรรูป และการห่มจีวรเป็นแบบห่มคลุมแนบเนื้อเหมือนกับศิลปะทวารวดี บ่งบอกว่าเป็นศิลปะที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน เข้าใจว่า ขอมเอาแบบอย่างไปจากละโว้ เพราะในสมัยนั้นพุทธมหายานที่ละโว้รุ่งเรืองกว่าขอม จึงพอสรุปอายุของพระพุทธรูป ของวัดกู่กุดว่ามีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1490 ถึง พ.ศ. 1515 .หรือจะเก่ากว่านั้นเล็กน้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หริภุญไชย ได้รับความรู้ ความจัดเจนสืบช่วงมาจากละโว้ ซึ่งศิลปะ ละโว้สมัยทวารวดีเป็นปูนปั้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ความชำนาญของการปั้นปูนของช่างจากละโว้จึงถ่ายทอดมาสู่หริภุญไชยด้วย ดังนั้นการปั้นดินเผาซึ่งช่างหริภุญไชยดูเหมือนจะชำนาญเป็นพิเศษ จึงได้รับอิทธิพลของศิลปะทวารวดีและศิลปะพุทธมหายานอย่างเต็มตัว และเต็มที่ ซึ่งพอที่จะประมวลได้ว่าพุทธศิลป์ของพระลือโขง และพระลือหน้ามงคลนั้นเป็นพุทธศิลป์ข้างฝ่ายมหายานและเป็นพระกรุในยุคแรกๆที่มีอายุมากกว่าพุทธศตวรรษที่ 17.แน่นอนครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้นไปตรวจงานบูรณะพระธาตุหริภุญชัยจังหวัดลำพูน กลับมาแล้วได้ให้อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ มาถามข้าพเจ้าว่า “เคยสังเกตพบศิลปะศรีวิชัยในลำพูนหรือไม่” ท่านอาจารย์ศิลป์ท่านไปเห็นมาแล้วเกิดความแปลกใจ ที่ศิลปะทางทะเลใต้ได้ขึ้นไปถึงภาคเหนือ ข้าพเจ้าจึงไปพบและเรียนให้ทราบว่า “เคยพบหลายชิ้น แม้ในหมู่พระพิมพ์ก็มีร่องรอย” ท่านก็เลยให้คำแนะนำว่าควรร่วมมือกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ทำการค้นคว้าไว้เป็นแนวความรู้ (จากหนังสือ “สุวรรณภูมิอยู่ไหน” โดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดม”)

ทั้งหมดนี้คือคำยืนยันและเป็นปริศนาที่เราจะทำการสืบค้น อิทธิพลของศิลปะศรีวิชัยและอิทธิพลของพุทธศิลป์แบบมหายาน ที่ซ่อนอยู่ในพระพิมพ์ของเมืองลำพูน ว่ามีอยู่ในพระพิมพ์ชนิดใด ซึ่งต่อไปผู้เขียนจะมาเสนอให้ท่านที่สนใจได้รู้ได้เห็นกัน พระลือหน้ามงคลที่นำมาแสดงให้ได้ชมกันนี้ เป็นพระลือหน้ามงคลที่มีความงดงามสมบูรณ์โดยแท้มีหน้าตา หูปาก จมูก ตลอดจนเส้นสายรายละเอียดต่างๆที่งดงามสมบูรณ์ไม่หักบิ่นหรือลบเลือนตรงไหน เป็นพระลือหน้ามงคลของกรุวัดประตูลี้ลำพูน และกรุกู่เหล็กอันเก่าแก่ที่ไม่เคยลงตีพิมพ์ในที่แห่งใดเลย

ภาพที่ 1 พระลือหน้ามงคลกรุประตูลี้ที่เรียกว่าพิมพ์อวบอ้วน พระลือองค์นี้เป็นพระลือหน้ามงคลสีแดงอมชมพู มีราดำและคราบกรุติดอยู่ทั่วทั้งองค์พระ แสดงถึงความเก่าแก่ของอายุอันยาวนานของพระกรุแท้ๆ พระลือองค์นี้มีความชัดเจนมีหน้าตา หู ปากจมูกที่งดงามสมบูรณ์ หน้าตาดูอวบอิ่ม เห็นกระจังหน้าชัดเจน ดอกบัวที่ประดับ อวบอูมเด่นเรียงรายลงมาอย่างเป็นระเบียบตืดกับซุ้มโขงรัศมี ที่เป็นเส้นรอบๆองค์พระอย่างชัดเจน องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานดอกบัวอย่างสง่างาม พระลือหน้ามงคลองคืนี้มีขนาดความกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 1/4ซ.ม. ความหนา 1 1/2 ซ.ม. ด้านหลังขององค์พระนูนเห็นรอยนิ้วมือและราดำติดอยู่ พระลือองค์นี้ขุดได้ บริเวณของวัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 2 เป็นพระลือหน้ามงคล สีเขียวหินครก มีคราบกรุเป็นคราบกรุสีแดงเป็นพิมพ์เดียวกับพระลือของรูปที่หนึ่ง พระลือสีนี้ถูกเผาด้วยไฟที่แรง จึงมีความแข็งแกร่ง ถึงขนาดที่กรีดกระจกเป็นรอยได้เลยทีเดียว ความคมชัดของพระลือหน้ามงคลองค์นี้เรียกว่าสมบูรณ์แบบได้องค์หนึ่ง โดยเฉพาะสีเขียวหินครกนี้เป็นสีที่หายากและเป็นสีที่นิยมกันของนักนิยมพระกรุโดยทั่วไป ด้านหลังของพระองค์นี้นูนเป็นหลังเต่ามีขนาดความกว้าง 2 ซ.ม.สูง 3 1/4 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 3 เป็นพระลือหน้ามงคลที่สวยที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมาก็ว่าได้ ความคมชัดของพิมพ์ทรงตลอดจนลวดลายต่างๆ ทั้งหน้าตา หูปาก จมูกนับว่ามีความงดงามสมบูรณ์เป็นเลิศจริง ๆ องค์พระประทับนั่งอย่างสง่างาม สังฆาฏิ ชายจีวรขอบจีวรเห็นอย่างชัดเจน ดอกบัวประดับรวมทั้งซุ้มรัศมีดูงามเด่นเป็นสง่าน่านิยมเอามาก ๆ องค์มีขนาดไม่ใหญ่นัก สัดส่วนต่างๆลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์ องค์พระประทับนั่งในปางมารวิชัยใบหน้าดูอิ่มเอิบ มีเมตตากรุณาอย่างแท้จริง ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของพระลือองค์นี้ งามอย่างสมบูรณ์แบบโดยแท้ เป็นพระลือหน้ามงคลที่มีขนาดกระทัดรัดอย่างน่านิยม สีขององค์พระเป็นสีเขียวผ่านพิกุล เนื้อพระเป็นเนื้อแกร่ง มีขนาดความกว้าง 2ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1.ซ.ม. ด้านหลังจะนูนพองามตามลักษณะของพระลือหน้ามงคลโดยทั่วไป ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 4 พระลือพิมพ์นี้เรียกกันว่า พระลือหน้ามงคลพิมพ์องค์เอียง เป็นลักษณะของพระลือหน้ามงคลพิมพ์นี้จริงๆ ให้ท่านพิจารณาดู ก็จะเห็นองค์พระมีเศียรและองค์เอียงไปทางด้านซ้าย พระลือหน้ามงคลพิมพ์นี้ดูมีมิติมากเป็นเสมือนว่าองค์พระจะยื่นออกมานอกกรอบจริงๆ เป็นฝีมือเชิงช่างชั้นครูที่ทำให้ดู เป็นเช่นนี้ พระลือองค์นี้เป็นพระลือสีขาว ซึ่งเป็นสีที่หายากมากสีหนึ่ง ความเก่าแก่ของเนื้อพระนั้นฟ้องถึงอายุได้อย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้ คราบกรุเดิมๆเกาะอยู่ตามผิวพระบางๆและมีราดำเกาะติดอยู่ทั่วทั้งองค์ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุโบราณที่หาชมได้ยาก พระลือหน้ามงคลองค์นี้ขึ้นมานานแล้วถูกเก็บรักษาไว้ในที่ดี จึงไม่สึกกร่อน หรือถูกถูไถใดๆ เป็นพระที่มีสภาพเดิมๆอย่างแท้จริง หน้าตา หูปากจมูกเห็นอย่างชัดเจน ตลอดจนเส้นสายลายละเอียดต่างๆคมชัดมีความสมบูรณ์งดงามอย่างเต็มที่ ด้านหลังนูนเด่นเป็นหลังเต่า ตามลักษณะของพระลือหน้ามงคลโดยแท้
มีขนาดความกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 5 พระลือหน้ามงคลสีพิกุล ที่เผาแกร่ง เนื้อพระด้านในจะเขียว จะเห็นความเหี่ยวย่นของผิวพระชัดเจน มีคราบกรุและขี้กรุติดแน่น ราดำติดอยู่เป็นแห่งๆทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจนและสวยงาม จัดได้ว่าเป็นพระกรุที่มีความสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ บิ่นหรือหักตรงส่วนไหนเลย พระลือหน้ามงคลองค์นี้มีขนาดย่อมกว่าพระลือองค์ที่ 4 ซึ่งเป็นพระลือหน้ามงคลพิมพ์เดียวกันเล็กน้อยเนื่องจากการหดตัว เพราะถูกแรงไฟในอุณหภูมิสูงเผา แต่ก็ไม่ทำให้พระลือองค์นี้เสียไปซึ่งความสมบูรณ์และความงดงาม
เป็นพระเก่าเก็บ แต่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงคงสภาพเดิมๆให้ได้เห็นอย่างเต็มตา ปัจจุบันจะหาพระที่มีความงดงามสมบูรณ์พร้อมเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก พระลือหน้ามงคลองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ความหนา 1 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 6 เป็นพระลือหน้ามงคลสีเขียวคราบเหลือง เนื้อผ่านเป็นสีพิกุล เนื้อพระแกร่งมาก สภาพองค์พระ เรียกได้ว่าเต็มร้อยไม่แพ้ องค์แรกๆ มีคราบกรุ ราดำติดอยู่ เนื้อขององค์พระตลอดจนผิวพระแสดงความเป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่อย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าเป็นพระกรุที่ดูง่าย พอที่จะนำไปเป็นตัวอย่างของการพิจารณาพระกรุที่แท้ทั่วไป ว่าจะต้องมีเนื้อและผิวพระเช่นนี้ ความคมชัดขององค์พระในทุกๆส่วนก็เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องสังเกตให้ดี และต้องจำเอาไว้ เพื่อจะได้นำไปพิจารณาพระองค์อื่นๆที่มีเข้ามาให้เราได้พบเห็น ดังนั้นการได้ดูพระแท้จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญมาก ว่าแต่เราจะไปหาดูได้ในที่แห่งไหน พระลือหน้ามงคลองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. ด้านหลังจะอูม นูนพองาม ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน

ภาพที่ 7 เป็นภาพของพระลือหน้ามงคลสีขาวนวล มีคราบกรุติดอยู่ให้เห็นพอประมาณพระลือหน้ามงคล องค์นี้เป็นพระที่สะอาด ไม่มีรอยเปื้อน ของคราบไคลใดๆทั้งสิ้น เป็นพระที่งดงามสมบูรณ์อย่างเต็มที่เลยก็ว่าได้พระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีนั้น ก็จะมีสภาพเป็นแบบนี้ หากเรามีพระที่สมบูรณ์แบบมีจุดสังเกต ต่างๆให้เห็นอย่างครบครันและเป็นพระที่มีความเก่าแก่และงามพร้อม แต่ถูกคนกล่าวหาว่า อะไรจะมีพระกรุที่มีอายุนับเป็นพันปี ที่งามพร้อมอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หร็อก ก็อย่าไปใจอ่อน เพราะของแท้ก็คือแท้ ชนิดที่ว่าหนีความจริงไปไม่ได้เลย จะให้ดีก็ควรเก็บรักษาและหาผู้ที่รู้จริงช่วยดูให้ ของดีอยู่ในมือ อย่าปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆก็แล้วกัน พระลือ องค์นี้เป็นพิมพ์นิยม เป็นพระเนื้อละเอียด โดยเฉพาะสีขาวนี้เป็นสีที่หายากที่สุดความงาม และความสมบูรณ์อยู่ในขั้นเต็มร้อยเลยทีเดียว หน้ากลม มองเห็นไรผมวาดตามรูปกรอบหน้าอย่างชัดเจน คิ้วเป้นรูปปีกกาตามพุทธศิลป์ของหริภุญไชย ตาโปนเหลือบลงต่ำ จมูกพองาม ปากเห็นเป็นปื้น ใบหูทั้สองข้างเห็นชัดเจนดี องค์พระประทับนั่งอย่างสง่าผ่าเผย เส้นประภามณฑลคมชัดดีมาก ลวดลายต่างๆรอบองค์พระติดพิมพ์ชัดเจน พระลือองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม. หนา 1 3/4 ซ.ม. ขุดได้บริเวณใกล้ๆกับ วัดประตูลี้

ภาพที่ 8 พระลือหน้ามงคลพิมพ์ที่เรียกกันว่าพิมพ์นิยม เป็นพระลือสีแดง มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่องค์พระมีความงดงามและสมบูรณ์มาก มีหู ตา ปาก จมูก ครบถ้วนชัดเจน เนื้อพระค่อนข้างละเอียดและมีน้ำหนัก เนื้อจะแน่น จับต้องดูจะรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น ซุ้มรัศมีรอบๆองค์พระจะเป็นเส้นคมเรียวเล็ก การเรียงตัวของลวดลายที่เป็นดอกบัวประดับมีความลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบไม่กระด้างหรือ เป็นแบบนูนหนาหยาบๆเหมือนกับพระเก๊ที่ทำเลียนแบบขึ้นมา องค์พระประทับนั่งบนฐานดอกบัวอย่างสง่างาม ดวงตาใหญ่เหลือบตาลงต่ำ มองเห็นคิ้วและไรรผมอย่างชัดเจน ใบหูยาวจรดบ่า พระลือหน้ามงคลองค์นี้มีคราบกรุที่เป็นเหมือนดินลูกรังสีแดงติดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุที่แท้จริง คราบกรุ ขี้กรุจะเป็นตัวชี้วัดให้เรารู้ว่าพระนั้นเป็นของแท้แน่นอนหรือไม่ นอกจากนั้นเราก็ควรจะพิจารณาถึงเรื่องพิมพ์ทรง จุดสังเกตต่างๆด้วยประกอบกันด้วย เพื่อความแน่นอนและแน่ใจจริงๆ พระลือหน้ามงคลพิมพ์นี้ขุดได้ที่บริเวณกู่เหล็ก ที่มีการขุดพบพระลือโขงยอดพระกรุในสกุลพระลืออีกชนิดหนึง ความงดงามสมบูรณ์ของพระลือหน้ามงคลสีแดงองค์นี้เต็มร้อย มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. ด้านหลังจะอูมนูนหนา เนื้อขององค์พระค่อนข้างละเอียด

ภาพที่ 9 เป็นภาพของพระลือหน้ามงคลสีเขียวเนื้อผ่านเป็นสีพิกุล เป็นพระลือเนื้อแกร่ง ความงดงามสมบูรณ์ไม่มีปัญหา มีหน้าตา หู ปาก จมูกให้ได้เห็น อย่างพร้อมมูล ด้านหลังจะอูมนูนเหมือนกับเม็ดขนุน ไม่บิ่นหรือแตกร้าวตรงส่วนไหนเลย ได้ชื่อว่าเป็นพระลือที่งามพร้อม องค์หนึ่ง มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 1/2ซ.ม. พระลือองค์นี้ขุดได้ บริเวณใกล้กับวัดประตูลี้และกู่เหล็กที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก ซึ่ง ปรากฎว่าในตอนหลังๆได้กลาย เป็นที่ของชาวบ้านไปแล้ว

ภาพที่ 10 เป็นภาพของพระลือแผง ที่เรียก กันว่า “พระข้าวควบ” ใช้เป็นส่วนของลวดลายประดับตามสถานที่เคารพต่างๆ เช่นตามซุ้มเจดีย์ หน้าบันของ โบสถ์วิหาร หรือประดับประดาตามซุ้มพระพุทธรูปองค์ที่มีขนาดใหญ่ ต่อมาสถานที่เคารพต่างๆ ได้เกิดหักปลักพังลง พระลือแผงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรากโบราณสถานนั้นๆ ก็กองจมอยู่ในดิน ต่อมามีผู้ขุดพบ และเห็นว่าเป็นรูปลักษณ์ของพระลือหน้ามงคล จึงนำมาตัดแบ่งปันกันเพราะเชื่อในพุทธคุณขององค์พระตามคำร่ำลือกัน พระลือแผงแบบข้าวควบที่เห็นนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ ขุดได้ที่วัดประตตูลี้ อันเป็นกรุของพระลือหน้ามงคลที่แท้จริง มีขนาดกว้าง 19 ซ.ม. หนา 3 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 11 เป็นภาพของพระลือแผง ที่ปลัก หักพังก่อนถูกนำไปตัดแต่ง แบ่งออกเป็นองค์ๆ เป็นพระลือแผงที่มีขนาดย่อมกว่าพระลือหน้ามงคลขนาดธรรมดา เพียงเล็กน้อย แต่มีความงามชัดเจนของพิมพ์ทรงเหมือนกันทุกอย่าง เพราะเหตุที่พระลือหน้ามงคลที่เป็นองค์เดี่ยวๆเป็นของที่หายากสุดๆ ดังนั้นผู้ที่พบเห็นพระลือแผงชนิดนี้ จึงได้นำไปตัดแบ่งปันกันแล้วจัดการตกแต่งให้เข้ารูป จนพอดีพองามนำไปเลี่ยมห้อยติดตัวเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ พระลือแผงแผ่นนี้มีความกว้าง 9 ซ.ม. ยาว 14 ซ.ม.หนา 2 1/2 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 12 เป็นภาพของพระลือแผงที่ถูกนำไปตัดและตกแต่ง เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าพิมพ์ขององค์พระจะไม่ชัดเจนและงามนักแต่ความเชื่อมั่นและมั่นใจ ในพุทธคุณของพระลือหน้ามงคลนั้นเป็นที่เชื่อถิอและศรัทธาของผู้คน ขอให้เป็นเพียงพระลือแผงที่ได้จากวัดประตูลี้ลำพูนก็เกินพอแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง ที่เชื่อถือได้ พระลือแผงองค์ที่เห็นมีขนาดกว้าง 2.ซ.มสูง 3 ซ.ม. หนา 2 ซ.ม. เรื่องราวต่างๆของพระลือหน้ามงคลของกรุวัดประตูลี้และของกรุ กู่เหล็กก็มีด้วยประการฉนี้ หากจะมีข้อมูลเพิ่มเติม ไว้โอกาสต่อไปก็จะได้มานำเสนอแก่ท่านผู้ที่สนใจต่อไป

สำหรับเรื่องของการจะเช่า หรือซื้อขายพระเครื่อง เป็นเรื่องของผู้ที่จะทำการซื้อขายกัน โดยหลักอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะสนใจและมีความต้องการต้องการหรือไม่ จะแพงหรือถูกนั้นก็แล้วแต่จะตกลงกัน องค์พระที่งดงามและมีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ราคาก็สูงนิดหน่อยเป็นหลักธรรมดาสำคัญ แต่ว่าดูและพิจารณาให้ดีจนมั่นใจและแน่ใจเสียก่อน แล้วค่อยตกลงกัน สำหรับพระลือแผงที่ตัดออกมาเรียบร้อยราคาก็จะอยู่พันต้นๆ ซึ่งหากจะคิดว่าของดีอายุเป็นพันๆปีและมีพุทธคุณปรากฎให้เห็นเป็นประจักษ์สมกับคำร่ำลือก็ไม่น่าจะสูงเลย ส่วนพระะพิมพ์นิยมและมีหน้าตา ก็จะอยู่ในเกณฑ์หลักหมื่นปลายๆอาจจะถึงหลักแสนต้นๆ ส่วนพระที่มีความสมบูรณ์พอเล่นได้อาจจะด้อยความงามไปนิด แต่เป็นพระกรุแท้ๆราคาก็ไม่ได้แพงนัก หากท่านสนใจก็ ติดต่อถามไถ่กันได้ ทางผู้เขียนไม่ขัดข้องและยินดีให้คำตอบทุกประการ เรื่องของพระคงลำพูนพิมพ์นิยมนั้นผู้เขียนได้ถ่ายรูปพระคงพิมพ์นิยม ที่มีความงดงามสมบูรณ์หลายหลากสีและได้ให้คำอธิบายสีสัน รูปลักษณะ ขนาด มาให้ท่านได้พิจารณาผ่านทางเว็บนี้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการของแท้ที่ราคาไม่สูงนักได้เช่าบูชากันหากท่านอยากจะได้ และไม่มีเวลาที่จะไปเสาะหาได้ในสนามทั่วไป ขอเชิญท่านติดตามและพิจารณาได้อย่างเต็มอิ่ม และหากพอใจก็โทรพูดคุยกันได้ ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากอะไร เพราะพระทั้งหมดที่นำมาให้ได้ชื่นชมกันนั้น เป็นของผู้เขียนทั้งสิ้น เบอร์ที่ติดต่อ 053-530148 และเบอร์ 086-9184300ได้ทุกเวลา พระทุกองค์นั้นเป็นพระกรุแท้ๆที่สมบูรณ์แบบตามที่ได้เสนอ ให้ท่านได้ชมทั้งด้านหน้าและด้านหลังผู้เขียนรับรองร้อยเปอร์เซนต์ โปรดได้ติดตามชมได้ใน “เปิดเช่าพระกรุยอดนิยมของเมืองลำพูน”