“พระกรุเนื้อดินเผาชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อสีดำ “ โดย นายโบราณ
พระคงดำ “ ลำพูนดำ ”
“ใครราน ใครรุกด้าวแดนไทย ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น”

       ขึ้นชื่อว่า”พระคงดำ”ของเมืองลำพูนนั้น ในวงการพระเครื่องเมืองไทย ต่างย่อมรู้จักกันดี และจะต้องร้องว่า “อ๋อ” รู้จัก สำคัญว่าจะมีใครได้เห็นและสำผัสกับองค์จริง ที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบกับพระกรุอันมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับชนิดนี้ กันเท่านั้น “พระคงดำ”หรือ”ลำพูนดำ” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมานานแสนนานแล้วนับตั้งแต่ ในรัชชสมัยของ องค์ล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ”พระปิยะมหาราช” เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกองทัพไทยให้มีความทันสมัยเทียบเท่ากับกองทัพของอารยะประเทศทางยุโรป โดยมีการฝึกทหารหาญของกองทัพขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามแบบสากล และเลิกการใช้อาวุธแบบสมัยโบราณ เปลี่ยนมาเป็นการใช้อาวุธยุทธโธปกรณ์ที่ทันสมัย ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการรบให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ถูกต้องตามหลักสากลนิยม ในเวลานั้น ประเทศไทยเราเกิดมรสุมทางการเมืองมากมายหลายอย่างทั้งภายในประเทศและภัยจากนอกประเทศ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ได้ทรงฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆให้ผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าไทยเราจะต้องเสียดินแดนในความปกครองไปบางส่วน เพื่อแลกกับความอยู่รอดปลอดภัยและการอยู่รอดของประเทศชาติ ด้วยความจำเป็นและจำใจไปก็ตาม จึงนับได้ว่าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยทั้งปวงอย่างใหญ่หลวง อย่างหาที่สุดมิได้ ในเวลานั้น พวกจีนฮ่อซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือสุดของประเทศไทยเรา เกิดลุกฮือแข็งข้อ ปล้นสดมภ์ ทำความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนชาวบ้านชาวเมือง แถบนั้นกันเป็นอย่างมาก พอดีประจวบเหมาะกับการฝึกนายทหารและกองทัพสำเร็จลงอย่างเรียบร้อย และเป็นไปอย่างได้ผล “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ “จมื่นไวยวรนารถ”ซึ่งในภายหลังต่อมาท่านผู้นี้อยู่ในตำแหน่ง “เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี”นามเดิมของท่านก็คือ “เจิม แสงชูโต” เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบพวกฮ่อ ทางด้านเหนือสุดของประเทศ ก่อนที่กองทัพไทยภายใต้การนำของ “จมื่นไวยวรนารถ” จะยกออกไปปราบศัตรูของแผ่นดิน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”ได้ทรงพระราชทาน”ธงชัยเฉลิมพล” แก่กองทัพของ “จมื่น ไวยวรนารถ” เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่กองทัพ เป็น”ธงชัยเฉลิมพล”ธงแรก ที่ทรงพระราชทานแก่กองทัพตามหลักสากลนิยมของทหารไทยสมัยใหม่ เมื่อ”จมื่นไวยวรนารถ”แม่ทัพได้รับพระราชทาน “ธงชัยเฉลิมพล” จากพระหัตถ์ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”แล้ว ต่อมาในวันอังคารเดือนอ้าย ก็ได้มีการจัดการทำพิธีสมโภชธงชัยยังทำเนียบ นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ผุ้ทรงคุณวิเศษ มาทำการสวดเจริญพระพุทธมนต์ อันศักสิทธิ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญที่จะไปทำการศึกณแดนไกล ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อพระท่านฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทีการประชุมเหล่าทหารทั้งหมด แล้วเชิญ”ธงชัยเฉลิมพล”อันสำคัญยิ่ง ปักไว้กลางปะรำพิธี จากนั้นก็มีพิธีอ่านประกาศโองการขึ้นให้เป็นที่ทราบกัน ดังต่อไปนี้


        เมื่อ วันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน11 ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ปี พ.ศ. 2428 “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพฯ จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้บรรจุเส้นพระเกศาของพระองค์ท่านลงไว้ในยอดธงชัยนี้ ต่างพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประหนึ่งได้ทรงสถิตย์ ณ ยอดธงชัยนี้อยู่เป้นนิตย์ ให้นายทหารและพลทหารทั้งปวงเข้าใจทั่วกันว่า ธงชัยอันวิเศษอันสำคัญนี้ เป็นที่เฉลิมกองทัพ ต้องเป็นที่นับถือ เป้นประธานของผู้เป็นทหาร ทหารทั้งหลายต้องบูชาเคารพธงเป็นที่ยิ่ง ธงนั้นเป็นสิ่งอันวิเศษยิ่ง เป็นของสำคัญสำหรับกองทัพ เหมือนอย่างบูชา และเคารพนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งเรา ให้เท่าเทียมเสมอกัน ในเวลารบทัพจับศีก ทหารต้องเพ่งต่อธงของตัวเป็นที่ตั้ง ต้องผูกใจติดอยู่กับธง และต้องรักษาธงเป็นที่สุด มาดหมายที่จะเชิญธงไปปราบศัตรูให้ชนะ หรือถ้าชนะศัตรูไม่ได้ ก็ต้องยอมพลีชีวิตรักษาธง อย่าทิ้งธงเป็นอันขาด ถ้ากองทัพกองหนึ่งกองใด รักษาธงไม่ได้แล้ว ก็เป็นที่เสียเกียรติยศและชื่อเสียงไปตลอดชั่วกัลปาวสานต์ชั่วฟ้าดิน เพราะฉนั้นให้นายทหารและพลทหาร จงรู้ชัดว่า ธงชัยเฉลิมพลนี้เป็นสิ่งมียศสูงสุด เป็นของแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทีเดียว

ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯพระราชทานธงชัยอันวิเศษนี้ให้แก่กองทัพ ก็ทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาพระกฤษฎาธิการ พระบารมีเป็นที่ตั้ง และทรงประสิทธิ์ประสาทพรชัยมงคลอันประเสริฐแก่ธงชัยนี้ ขอให้ธงชัยมีอำนาจและเกียรติยศปรากฎแก่แม่ทัพนายกองและนาย กอง กับผู้ที่ถือธงและหมู่พลทั้งกองทัพ ให้หมู่ปรปักษ์ศัตรูครั่นคร้ามและเกรงขาม แพ้อำนาจพระบารมี ซึ่งได้ทรงประสาทพระพรชัยมงคลมาในธงชัยนี้ ให้มีความสวัสดิ์แคล้วคลาดศาสตราวุธแก่ผู้เชิญธง และทั่วทั้งกองทัพ และธงชัยอันวิเศษนี้ได้บรรจุ “ พระเหล็กไหลนภากาศ”องค์หนึ่ง “พระลำพูนดำ”องค์หนึ่ง ( พระคงดำลำพูน) และเครื่องปลุกเศกแล้ว ได้ประสิทธิ์ประกอบกัน บรรจุลงไว้ในที่ยอด สำหรับคุ้มครองป้องกัน ผู้ถือธงชัยนี้ให้มีความสง่าและอำนาจ ให้แคล้วคลาดศาสตราอาวุธปัจจามิตร อันมาทั่วทุกทิศานุทิศ และเป็นเครื่องทำให้ผู้เชิญธงมีน้ำใจ กล้าหาญมั่นคง จะได้ไม่มีความหวั่นไหวต่อโพยภัยของข้าศึกศัตรู ซึ่งจะมีมาในทุกทิศนั้น ฯลฯ ประกาศ ของกองทัพนี้ คัดมาจากหนังสือ”ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี” แม่ทัพในสมัย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5.” อัน”ธงชัยเฉลิมพล”ธงแรกของกองทัพไทยนี้ ที่ยอดธงได้บรรจุ”เส้นพระเกศา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5” และ”เครื่องปลุกเศก”แล้ว ( เครื่องปลุกเศกนั้นคงจะหมายถึง ตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังที่ทำการปลุกเศกแล้วได้ถูกนำลงบรรจุด้วย)

นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องที่เป็นพระกรุอีกสององค์ ที่มีคุณวิเศษเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นว่า เป็นสุดยอดแห่งพระเครื่อง องค์หนึ่งคือ ”พระเหล็กไหลนภากาศ”และพระกรุองค์สำคัญอีกองค์หนึ่ง อันมีชื่อเสียงเกริกไกรนั้นก็คือ “พระคงดำ”หรือเป็นที่รู้จักกันว่าคือ”ลำพูนดำ” ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเป็นพระกรุที่คนทั้งหลายต้องการและเสาะแสวงหากันมากในยุคสมัยนั้น สำหรับ”พระเหล็กไหลนภากาศ”นั้น ยังเป็นพระที่เป็นที่น่าสงสัย ตามความคิดของผู้เขียนว่า น่าจะเป็น? “พระเหล็กไหลของ”วัดพระพุทธบาทดอยไซลำพูน” ที่มีชื่อเสียงในทางแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี เคียงคู่กับพระคงดำเมืองลำพูนมาเป็นเวลานานแสนนาน และคำว่า”เหล็กไหล”ของ”วัดดอยไซ”นั้นดูมีน้ำหนักและมีชื่อใกล้เคียงกับ “พระเหล็กไหลนภากาศ” ประกอบกับเป็นพระกรุอันสำคัญชนิดหนึ่ง ที่ขุดพบและมีเฉพาะในเมืองลำพูนเท่านั้น ไม่มีพบในที่แห่งอื่นใดเลย นี่เป็นเพียงข้อสังเกตุและเป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน หากผู้ใดมีแง่คิด เป็นอย่างอื่นอันมีเหตุผล โปรดได้นำเสนอและแสดงความคิดเห็นออกมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ ต่อวงการพระกรุของเมืองลำพูนในวันข้างหน้าต่อไป. บทความใน.ครั้งนี้ ที่ได้นำเอา เรื่องราวของ “พระคงดำ “ มาเป็นปฐมบทเริ่มต้น เป็นเพราะเหตุว่า” พระคงดำลำพูน”นั้นเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือกันมานานแสนนาน ตั้งแต่รุ่น คุณปู่ คุณทวดในสมัยก่อนโน้น ตามโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองลำพูน ส่วนใหญ่จะมีพระคงบรรจุอยู่แทบทุกที่ สำหรับพระคงที่ขุดพบใน”วัดพระคงฤาษี”นั้นจัดได้ว่าเป็นพระคงรุ่นเก่าแก่ ที่มีพิมพ์ทรงและสีสันวรรณะต่างๆที่สวยงดงามสมบูรณ์เป็นที่สุด มีความโด่งดังทางด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด ผู้คนจึงได้เรียกพระที่ขุดพบชนิดนี้ว่า “พระอยู่คง” และ”พระคง” ในสมัยก่อนเก่า นักเลงพระทางภาคกลางจะเรียกพระคงว่า “พระลำพูน” ถ้าพระคงมีสีดำก็จะเรียกว่า”ลำพูนดำ” ถ้าเป็นพระคงสีแดงก็จะเรียกว่า “ลำพูนแดง”ก็เป็นอันหมายความถึง “พระคงดำ “”พระคงแดง”ของเมืองลำพูนนั่นเอง จึงถือได้ว่าพระคงลำพูนนั้นเป็น เสมือนดังตัวแทนของพระเครื่องอันเก่าแก่ที่เป็นพระกรุของเมืองลำพูนได้อย่างสนิทใจ ในทัศนะคติของการเคารพบูชาพระเครื่องของคนในสมัยก่อนๆนั้น เขาเชื่อกันว่าสีสันต่างๆของพระนั้นมีความสำคัญ ต่อการเลือกไว้เป็นพระประจำตัวสำหรับในการคุ้มกันปวงเภทภัยทั้งปวงโดยมีความเชื่อกันดังนี้

1. พระคงลำพูนที่เป็น”พระสีแดง“มีความหมาย หมายถึงการต่อสู้ ที่ถึงเลือดเนื้อ มีความคงกระพันชาตรีต่ออาวุธทั้งหลายทั้งปวงและมีความสามารถในการรุกรบ มีความกล้าหาญในการประจนประจันกับข้าศึกอย่างไม่เกรงกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัว

2. พระคงลำพูนที่มีเนื้อพระเป็น”สีขาว”บ่งบอกถึงความมีเสน่ห์ มีโชคดีในทางการเงิน มีโชคลาภ ปรากฎอยู่เป็นนิจสิน แคล้วคลาด จากศาสตราวุธต่างๆ มีเสน่ห์ที่ต้องตาต้องใจในเพศตรงกันข้าม พระคงสีขาวสะอาดนั้นเป็นพระคงอีกสีหนึ่งที่หายากไม่ปรากฎให้ได้พบเห็นกันบ่อยนัก สำหรับพระคงสีขาวจะมีสีในหลายเฉดสีคือ สีขาวสะอาด สีขาวอมชมพู สีขาวอมเนื้อ สีขาวอมสีพิกุลเป็นต้น.

3. พระคงลำพูนที่มีเนื้อพระ เป็นสีเนื้อค่อนไปทางสีเหลือง หรือสีค่อนไปทางสีเนื้อ ชาวบ้านชาวเมืองลำพูนจะเรียกพระคงสีนี้กันว่าเป็น พระคงสีดอกจำปา หรือสีดอกพิกุล ที่ภาษาถิ่นเรียกกันว่าดอกแก้ว พระคงสีนี้จะเป็นสีที่มีเสน่ห์และเหมาะสำหรับการนำติดตัวไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ สามารถใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์แก้ เสนียดจัญไร ต่างๆและ ใช้รักษา โรคภัยต่างๆ ทั้งยังสามารถทำให้สัตว์ร้ายต่างๆที่มีพิษและเขี้ยวงากลับกลายสยบ สงบเชื่องขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

4.พระคงลำพูนชนิดสีเขียวหินครกหรือสีมอย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคราบของผิวเป็นสีต่างๆติดอยู่ เป็นคราบสีต่างๆเช่นเขียวคราบแดง เขียวคราบเหลือง เขียวคราบน้ำตาลไม่ว่าคราบที่ติดอยู่กับพระคงเป็นคราบของสีอะไรก็ตาม ก็ ไม่ทำให้คุณวิเศษของพระคงสีนี้เปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น กลับเป็นการเพิ่มความขลังอย่างน่านิยมขึ้นในองค์พระซึ่งหาไม่ได้ในพระคงสีอื่นๆ พระคงสีเขียวหินครกนี้จะ สามารถ ป้องกันภัยร้ายต่างๆที่รุนแรงได้อย่างชะงัดนัก รวมทั้งป้องกันบรรดา ภูติผีปีศาจต่างๆได้เป็นอย่างดี สำหรับทางด้านคงกระพันชาตรีถือได้ว่าเป็นยอดยิ่ง พระคงที่มี สีมอยหรือสีเขียวหินครกนี้มีเนื้อค่อนข้างแกร่ง ความคมชัดของลวดลายต่างๆบนองค์พระจะติดพิมพ์อย่างชัดเจน เป็นพระที่มีเนื้อแกร่งและแข็งเป็นที่ยิ่ง จึงเป็นพระคงสีที่ได้รับความนิยมและบรรดาผู้ตนปรารถนาที่จะมีไว้ในความครอบครองเป็นที่สุด รวมทั้งสนนราคาในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เพราะเป็นพระคงสีที่ออกจะหายากมากและมีความนิยมกันสูงสุดของวงการ

5.พระคงที่มีสีสันของเนื้อพระเป็นสีดำ ถือกันว่าพระคงดำนี้รวมเอาพุทธานุภาพของพระคงสีต่างๆไว้ในองค์พระคงดำนี้ อย่างบริบูรณ์ พระคงดำนั้นมีความคงกระพันชาตรีอย่างเป็นเยี่ยมที่สุด มีเสน่ห์มากที่สุด เป็นบ่อเกิดแห่งโชคลาภ มีเสน่ห์เป็นที่รักและชื่นชอบของคนที่ได้พบเห็นโดยทั่วไป

ทุกวันนี้การปลอมพระกรุชั้นนำได้ทำขึ้นมาอย่างใกล้เคียงมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการดูนั้นต้องยึดหลักที่ว่า รูปลักษณ์ เนื้อหาขององค์พระและความเก่าแก่จะต้องมาก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาถึง พิมพ์ทรง จุดลับ จุดสังเกตุต่างๆว่าจะสมกับที่เป็นพระกรุอันแท้จริง หรือไม่ เรื่องของพระคงดำนั้น เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่บรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องในสมัยก่อน ที่ถือกันว่าเป็นนักนิยมสะสมพระเครื่องชั้นครู แรกๆต่างเชื่อกันว่า “พระคงดำ”แท้ๆนั้นไม่มี ที่มีปรากฎอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นพระคงดำ ที่ถูกนำไปย้อมสีหรือนำพระไปสุมด้วยไฟแกลบ ซึ่งเป็นกรรมวิธีอย่างหนึ่ง ที่สามารถทำให้สีสัน ขององค์พระกลายเป็นสีดำได้ ในความเป็นจริงนั้นเนื่องจากพระคงเป็นพระเนื้อดินเผา ดังนั้นจึงมีมากมายหลายหลากสี ปรากฎให้ได้พบเห็น สำหรับพระคงสีดำ พระคงสีมอยหรือสีเขียวหินครกและพระคงสีขาวนั้นออกจะพบเห็นกันน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย สำหรับ”พระคงดำ”นั้น เราดูตัวอย่างได้จาก ”พระซุ้มกอ”ของกรุทุ่งเศรษฐีกำแพงเพชร ก็ยังมี”พระซุ้มกอดำ” ปรากฎให้เห็นเป็นประจักษ์พยานได้อย่างหนึ่ง ซึ่ง พระซุ้มกอดำนั้นก็เป็นพระเนื้อดินเผาเช่นกัน มีเนื้อหาใกล้เคียงกับพระคงมาก

สำหรับพระกรุในพระชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะนั้น ก็มีปรากฎให้เห็น มีทั้งที่เป็น เนื้อชิน เนื้อตะกั่ว เนื้อทองผสม เนื้อทองคำ เนื้อสำริด ก็มีปรากฎเป็นหลักฐานในทุกอย่าง ดังที่ได้นำเสนอไว้เป็นตัวอย่างในเรื่องของ”พระรอดเนื้อโลหะ”กันไปแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็มีพระกรุชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะต่างๆเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว รอวันที่จะนำมาเสนอไว้ให้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับวงการพระเครื่องและพระกรุของเมืองลำพูน โดยจะทะยอยนำมาเสนอ ผู้ที่สนใจขอได้ติดตาม ก็จะได้รู้ได้เห็นว่าเป็นและมีจริงๆ เรื่องของสีสันของพระคงดำนั้นก็มีต่างสีกัน ไม่ได้ดำสนิท เหมือนกันไปทั้งหมด มีทั้งพระคงดำที่มีเนื้อที่แข็งแกร่ง พระคงดำเนื้อแข็งปานกลางและพระคงดำเนื้ออ่อน ส่วนสีสันนั้น ก็มีความแตกต่างเช่นกัน เช่น สีดำสนิท สีดำเทา สีดำมัน สีดำออกน้ำตาล สีดำที่มีเนื้อแกร่ง เป็นต้น สำหรับพระคง ดำ ที่มีเนื้อที่แข็งแกร่งนั้นเนื้อในแท้ๆนั้นจะเป็นเนื้อแบบสีเขียวหินครก เมื่อถูกนำมาห้อยหรือถูกเหงื่อไคลในตัวของคน ผู้ที่นำไปห้อยใช้ น้ำมันและคราบไคลในตัวคนจะเป็นตัวนำทำให้สีของพระคง เขียวหิน ครกนั้น แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นสีเข้ม และเป็นสีดำไปในที่สุด

พระคงดำที่เป็นไปในลักษณะนี้จะเป็นพระคงดำที่งามสมบูรณ์แบบที่สุด ดังตัวอย่าง ในภาพที่นำพระคงสีต่างๆและหลากหลายพิมพ์ที่ผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี มาแสดงให้เห็นและมีคำอธิบายเป็นองค์ๆให้ท่านได้ติดตามและศึกษาพิจารณาดูต่อไป สำหรับพระคงดำที่เป็นสีดำเทานั้น เป็นพระคงสีดำเหมือนกัน แต่สีดำนั้นสีไม่ดำเข้ม และมีสีที่คล้ายกับว่ามีคราบกรุสีเทาบางๆเคลือบอยู่ตลอดทั้งองค์พระ และตามซอกมุมต่างๆ เป็นลักษณะของสีดำจืดๆ ที่เรียกกันว่าดำหม่นๆ พระคงที่มีสีเป็นสีดำมัน พระคงดำสีนี้จะเป็นสีที่ต้องใช้ความสังเกตุและระมัดระวังอย่างเป็นที่สุด เพราะเนื้อพระจะดูเนียนเรียบไปตลอดทั้งองค์พระ ต้องใช้แว่นขยายส่องดูให้ดีเพราะพระกรุโบราณอันแท้จริงนั้นจะต้องมีความเก่าแก่ของเนื้อพระ มีริ้วรอยของความเก่าของกาลเวลาให้เห็นอย่างเด่นชัด จึงจะชี้ได้ว่าว่าเป็นพระกรุที่ถึงยุคอย่างแท้จริง ความเป็นธรรมชาติที่จะต้องมี มีหลุม มีบ่อมีริ้วรอยและ ความเหี่ยวย่นของเนื้อที่มีอายุอันยาวนานนับเป็นพันปี นอกจากจะดูเนื้อพระเป็นลำดับแรกแล้ว ยังจะต้องดูเนื้อหา พิมพ์ทรง ฟอร์มพระที่เป็นธรรมชาติของพระกรุแท้ๆรวมทั้ง เส้นสายรายละเอียดต่างๆตลอดจนจุดลับ จุดสังเกตุต่างๆอย่างถี่ถ้วน ผู้เขียนได้รับคำไขจากผู้ที่มีความชำนาญในการทำพระเนื้อดินเผา ออกมาจำหน่ายว่า เคยได้รับการว่าจ้างให้เผาพระกรุที่เป็นพระแท้ที่ถึงยุค แต่เป็นพระสีธรรมดาให้กลับกลายเป็นพระสีดำได้ การทำก็ทำโดยใช้แกลบเป็นเชื้อไฟ ค่อยสุมรุมเอาอย่างช้าๆจนได้ที่ สีเดิมๆนั้นก็จะกลับกลายเป็นสีดำไป มีตัวอย่างให้เห็นเช่น การเผาหม้อดินและคนโทใส่น้ำ ซึ่งก็เป็นอีกวิธีการ ที่ใช้ การเผาแบบนี้เช่นกัน เป็นวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่นิยมพระสีดำ ที่จะต้องระมัดระวังไว้ให้จงดี อีกวิธีหนึ่งของกรรมวิธีเปลี่ยนสีขององค์พระ โดยใช้ขี้ผึ้งของยาขัดรองเท้า”กีวี่” ที่ใช้ขัดรองเท้าเอามาทำการขัดกับองค์พระเพียงเพื่อให้องค์พระกลายเป็นสีดำตามความต้องการของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง ผู้เขียนจึงต้องนำข้อมูลที่ได้นี้มาเปิดเผยให้ท่านได้รับรู้ ว่ามันเป็นอย่างไรในความอยาก อันผิดๆของคนเราแม้กระทั่ง องค์พระองค์เจ้า เขาก็ยังทำกันได้เช่นนี้ สำหรับพระคงดำ ที่มีสีดำออกน้ำตาลจะ เป็น พระคงที่มีเนื้อดินแบบที่เผา ไม่สุก ดังเช่นเหมือนกับการเผาถ่านไม้ แต่เนื่องจากเป็นพระเนื้อดินพระคงสีนี้จึงมีเนื้อหาที่ยุ่ย เปื่อยง่าย เมื่อถูกน้ำจะละลา ย ไปในที่สุดพ ระคงสีดำน้ำตาลจึงไม่มีปรากฎให้เห็น

ผู้เขียนเคยได้พระคงสีนี้มา ในตอนแรกก็หลงดีใจ รีบเอาลงล้างน้ำเพื่อเอาคราบกรุ ขี้กรุที่ เป็นคราบดินและปูนขาวติดอยู่ออก แต่พอลงน้ำไม่กี่อึดใจเ นื้อดินที่ประกอบเป็นองค์พระก็เปื่อยยุ่ย ละลายหายไป กลายเหลือเพียงแต่ แก่นในเท่านั้น นี่คือความจริง ที่นำมาเล่าให้ฟังกัน ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น พระกรุทุกองค์และทุกอย่างไม่ได้สดสวยและมีความงามเหมือนกันหมดทุกองค์ บ้างงามสมบูรณ์ บ้างชำรุดแตกหักเสียหาย แตกร้าว จะมีความแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นสิ่งสำคัญสุด ลำดับแรกนั้นก็คือความเก่าแก่ของอายุ ของเนื้อพระ และคุณวิเศษที่อยู่ในองค์พระอย่างแท้จริง รูปแบบและความงามนั้นทำและแต่งแต้มกันได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องแม่นพิมพ์และต้องหมั่นศึกษาติดตาม จึงจะมีโอกาสได้พระกรุที่แท้จริง. อย่าเล่นด้วยหู จงดูด้วยตาและหมั่นศึกษา ด้วยการใช้สมองตริตรองคิดกันโดยใช้ปัญญากันให้จงดี สำคัญ อย่าผลีผลามและเชื่อมั่นในตัวเองและผู้อื่นจนเกินไป เพื่อกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ มีคติสอนใจขอฝากให้ไว้บทหนึ่งว่า “ควรจะเล่นหา เอาเป็นว่า เล่นแค่ชอบ หากไม่ชอบ ขอตอบว่าจงอย่าเล่น ใช้สมองตรองพินิจคิดให้เป็น อยากจะให้ใครปั่นหัวเล่นก็ตามใจ.” เรามาชมภาพและคำอธิบายของพระคงดำและพระคงสีขาวและพระคงสี ต่างๆหลากหลายพิมพ์ที่นำมาแสดงให้เห็น ถึงความเป็นพระคงพระกรุอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำพูนกันดีกว่า

ภาพที่ 1 ภาพของพระคงพิมพ์ใหญ่เนื้อดินสีขาวนวล ที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบเต็มร้อย ท่านสามารถขยายภาพดูทุกส่วนขององค์พระได้อย่างเต็มที่และเต็มตา ค่อยๆพิจารณาและศึกษาไปก็จะได้อรรถรสของความมีศิลป์จากศิลปะ”หริภุญไชย”ในองค์พระอย่างเต็มอิ่ม เป็นพระคงสีขาวที่ไม่บิ่น ไม่หัก ไม่แตก ร้าว หรือมีการตกแต่งในส่วนใด ความคมชัดของเส้นสายรายละเอียดต่างๆนั้นติดพิมพ์อย่างชัดแจ้ง กิ่งก้านและใบโพธิ์ประดับทุกเส้นและทุกใบพลิ้วไหวราวกับต้องลม เส้นสายต่างๆทุกเส้นเป็นเส้นเล็กๆมีความเป็นธรรมชาติ เป็นลักษณะของศิลปะ”หริภุญไชย”ที่ปรากฎให้เห็นในประติมากรรมชิ้นเล็กๆอย่างน่าประทับใจ ให้ท่านสังเกตุดูการประทับนั่งขององค์พระบนพระแท่น หรือบนฐานประทับ ประทับนั่งอย่างองอาจและสง่างามในปางมารวิชัย รูปทรงองค์เอวขององค์พระมีความอวบล่ำสง่างามสมกับชื่อ”พระคง”โดยแท้ หน้าอกดูล่ำหนาบึ้ก ลำแขนใหญ่เต็มไปด้วยมัด กล้าม แขนซ้ายขององค์พระหักศอกทำมุม เก้าสิบองศา ลำแขนวางพาดบนหน้าตัก ปลายนิ้วชี้ของมือซ้ายจรดชนติดกับลำแขนขวาที่วางทอดตัวลงพาดเข่าขวา ปลายมือขวาจรดติดกับพื้นฐานประทับ ให้สังเกตุตรงข้อแขนซ้าย ที่วางพาดบนหน้าตักนั้นจะเห็นเส้นจีวร 2 เส้นพาดขวางอยู่มองดูคล้ายกับกำไลแขน แต่ไม่ใช่ การประทับนั่งเป็นแบบขัดสมาธิเพชร คือเท้าขวาวางพาดอยู่บนเท้าซ้าย และปลายเท้าซ้ายสอดไขว้ไปโผล่บนน่องของเท้าขวา ตรงส่วนหน้าแข้งซ้าย ที่สอดขึ้นขัดกับเท้าขวานั้น จะสังเกตุเห็นเป็นเส้นขวางสองเส้นบนข้อเท้าของแข้งซ้าย คือเส้นชายจีวร หน้าแข้งซ้ายตรงส่วนที่สอดไขว้จะเห็นเป็นจีบหรือแฉกสองแฉก การครองจีวรของพระคงลำพูนนั้นจะเป็นการครองแบบห่มคลุม จีวรจะเป็นลักษณะแนบชิดติดกับลำตัวขององค์พระอันเป็นลักษณะหนึ่งของศิลปะทวารวดี ที่ก่อกำเนิดจากศิลปะคุปตะของอินเดียแล้วเกิดมีอิทธิพลต่อศิลปะหริภุญไชยเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา เศียรของพระคงจะมีลักษณะคล้ายกับบาตรคว่ำเป็นเศียรกลมมนค่อนข้างใหญ่ องค์ที่ติดพิมพ์ ชัดเจนจะเห็น หน้า ตา หูปากจมูกที่งามพร้อม คิ้วจะเป็นลักษณะของรูปปีกกา วาดเหนือบนดวงตา ตาทั้งสองนูนโปนเป็นแบบตาเนื้อไม่ใช่ตาที่แกะขึ้นมา จมูกนั้นเป็นสันโด่งใหญ่พองาม เหมาะเจาะรับกับใบหน้าอย่างลงตัว ปากจะเป็นปื้นคล้ายกับเสี้ยวเดือนที่หงายขึ้น ด้านหลังขององค์พระมีเนื้อที่อูมเด่นพอเหมาะพองามเป็นแบบหลังคลึงที่ดูเรียบร้อย มีเนื้อหาค่อนข้างจะละเอียดไม่ค่อยจะปรากฎเม็ดแร่ ถึงจะมีก็มีให้เห็นก็น้อยเม็ด มีคราบกรุที่เป็นคราบของดินเหนียวแห้งๆ ติดอยู่ตามซอกและพื้นผิวพองาม พอมองเห็นเป็นความเก่าที่ดูดี มีมิติน่าประทับใจ พระคงพิมพ์นี้ขุดพบในแท่นแก้วหรือในฐานชุกชีใต้ที่ประทับนั่งขององค์พระประธานในวิหารของวัดพระคงฤาษีในคราวที่มีการบูรณะสร้างวิหารขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2519 เป็นพระคงพิมพ์ที่ไม่ค่อยมีปรากฎพบเห็นในสนามพระแทบจะทุกที่ ขนาดขององค์พระกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม

ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระคงดำหรือ พระลำพูนดำตามที่คนเรียกกัน พระคงดำองค์นี้มีเนื้อที่แข็งแกร่ง เป็นพระคงที่ถูกเผาไฟในอุณหภูมิสูงถึง 1300 องศา สีสันขององค์พระเป็นสีดำของเนื้อแท้ขององค์พระจริงๆ ไม่มีการตกแต่งหรือย้อมสีด้วยกรรมวิธีใดๆ เป็นพระคงเนื้อเขียวหินครกที่มีสีเข้มจัดจนกลายเป็นสีดำ มีความสมบูรณ์และความคมชัดของลวดลายและเส้นสายรายละเอียดต่างๆ ที่สมบูรณ์แบบเกินร้อย ด้วยการที่มีเนื้อหาขององค์พระที่มีความละเอียดจึงทำให้พระคงดำองค์นี้มีความหนึกนุ่มดูเนียนและงามตาอย่างน่าพิศวง พระคงในลักษณะนี้ภาษาถิ่นเขาจะเรียกกันว่ามีสีของเนื้อเป็น”สีดำมอย “หรือเป็นสีแบบ”สีเขียวหินครก” มีขนาดที่หดตัวเล็กกว่าพระคงองค์สีขาวในภาพที่ 1 เล็กน้อย เนื่องจากถูกเผาไฟที่มีอุณหภูมิสูงนั่นเองจึงมีการหดตัวของเนื้อพระ พระคงเนื้อเขียวดำที่มีหู ตา ปากจมูกและทุกสัดส่วนที่คมชัดเช่นดังที่เห็นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นกันนัก ท่านลองขยายภาพให้ใหญ่และพิจารณาดูอย่างละเอียดก็จะเห็นเป็นภาพที่มีความขลังให้ความรู้สึกทางใจได้เป็นอย่างดี นั่นคือผลพวงที่ได้รับจากพุทธศิลป์ที่มีมนต์ขลังอันน่าอัศจรรย์ยิ่งในภูมิปัญญาของช่างในสมัยโบราณที่ได้สอดแทรกสิ่งดีๆเอาไว้ในองค์พระ ด้านหลังขององค์พระเป็นแบบหลังคลึงจึงดูมีความเรียบร้อย มีลายนิ้วมือเส้นใหญ่ปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดมีเม็ดแร่ปรากฎให้เห็นพอประมาณ เม็ดแร่ที่ปรากฎออกมานี้เป็นเพราะถูกแรงดันของความร้อนประทุออกมาจากภายใน เม็ดแร่อมความร้อนได้อย่างเต็มที่จึงดันตัวออกมา บางองค์จะห็นเป็นรูที่มีรอยไหม้ของขอบเล็กๆ พระคงที่มีเนื้อแกร่งนั้นมักจะมีเม็ดแร่ประทุออกมาจากเนื้อในให้ได้เห็น ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะเม็ดแร่เก็บความร้อนไว้อย่างสูงจึงประทุดันเนื้อดินออกมา คราบกรุนั้นติดอยู่ตามผิวแสดงถึงอายุและความเก่า ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. ขุดได้ในใต้แท่นพระประธานของวัดพระคงฤาษ๊ลำพูน

ภาพที่ 3 เป็นภาพของพระคงสีขาวค่อนไปทางสีพิกุลอีกพิมพ์หนึ่ง ที่มีใบหน้าค่อนข้างกลมโตและดุดัน เป็นพระคงอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความแตกต่างจากพระคงในภาพที่ 1 และภาพที่ 2 ความคมชัดของพิมพ์ทรงและเนื้อหานั้นจัดอยู่ในขั้นที่เรียกว่างดงามและสมบูรณ์โดยแท้ เป็นพระเก่าเก็บที่ขุดได้มาเป็นเวลานานแสนนาน และได้เก็บรักษาไว้ในสภาพเดิมๆได้เป็นอย่างดีมาก พระคงสีขาวพิกุลองค์นี้คงอยู่ในที่แห้งและสะอาดถูกเก็บไว้ในสถานทีดีจึงมีความสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง สำหรับพิมพ์ทรงนั้นเป็นพระคงพิมพ์ที่มีเศียรที่ใหญ่กลมมน มีดวงตาที่นูนเด่นเห็นชัดทั้งสองข้าง ผู้เขียนเรียกว่า”พระคงตากบ” จมูกและปากเห็นเพียงบางๆ ลำตัวขององค์พระอวบอ้วนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ประทับนั่งอย่างเป็นสง่าดูน่าเกรงขามสมกับความเป็นพระคง ท่านลองขยายภาพดูก็จะเห็นเป็นจริงตามที่ว่าไว้ เป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระคงพิมพ์นี้ รูปลักษณ์โดยรวมของพระคงองค์นี้นั้นมีความสมบูรณ์งดงามอย่างเต็มที่ ด้านหลังไม่มีรอยนิ้วมือปรากฎให้ได้เห็น มีคราบกรุติดอยู่พองาม ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 4 พระคงดำพิมพ์ใหญ่ เป็นพระคงดำอีกพิมพ์หนึ่งที่มีขนาดใหญ่และมีความคมชัดของหน้าตาและเส้นสายรายละเอียดต่างๆให้เห็นอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ สีดำของพระคงองค์นี้เป็นสีดำอย่างแท้จริงเรียกว่าสีดำเทา ที่เป็นสีค่อนข้างหม่น เป็นเพราะเป็นสีขององค์พระที่ขึ้นมาจากกรุเดิมๆไม่ได้ทำการตกแต่ง ล้าง หรือขัด แต่อย่างใด คราบกรุและขี้กรุติดอยู่ในสภาพเดิมๆ สังเกตุได้จากตามซอกมุมต่างๆจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้พระคงองค์นี้ดูดีมีมิติเกิดขึ้นให้เห็นและเต็มไปด้วยความขลัง มาถึงตอนนี้คงทำให้ท่านได้เข้าใจในเรื่องพระคงดำหรือลำพูนดำเพิ่มขึ้นและมีความเชื่อตามที่ผู้เขียนได้บอกเล่ามาว่าเป็นความจริงโดยแท้ พระคงดำองค์นี้มีด้านหลังที่หนาและกว้างพอประมาณ มีรอยหยักตรงก้นฐานค่อนข้างลึก ด้านหน้าดูกว้าง องค์พระอวบอ้วนดูเด่นเป็นสง่ามีมิติ ตรงส่วนหัวมนกลมโต เห็นหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน คิ้วเป็นรูปปีกกาแผ่ออกไปค่อนข้างใหญ่ ดวงตาเป็นเม็ดกลมโต ปากเป็นปื้นตามลักษณะของพระกรุศิลปะหริภุญไชย ประทับนั่งบนฐานอย่างสง่างามยิ่ง ทุกๆส่วนขององค์พระลงตัวในทุกประการ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. ส่วนหนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 5 พระคงสีขาว ที่มีใบหน้าค่อนข้างดุ เป็นพระคงอีกพิมพ์หนึ่งที่งามสะอาดไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดตามผิวพระเลย เป็นพระคงที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ถูกจับต้องให้เป็นไคลมือ พระคงพิมพ์นี้ลองขยายภาพให้ใหญ่ ก็จะเห็นว่ามีหนวดหรือพรายปากปรากฎเหนือริมฝีปากบน และสองข้างของมุมปากนั้นจะเป็นรอยบุ๋มเล็กๆทำให้ใบหน้าดูออกจะดุดัน ประกอบกับมีดวงตาที่นูนโปน อันเป็นลักษณะของศิลปะหริภุญไชยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะละโว้ องค์พระมีปีกที่พับเข้าหาขอบทั้งสองข้างอันเป็นเนื้อเกิน ที่ผู้คนสมัยก่อนเขาจะนิยมกันเพราะถือกันว่าพระคงในลักษณะนี้ทำให้มีโชคลาภเหลือกินเหลือใช้ ด้านหลังค่อนข้างจะกว้างและแบนมีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็น ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 6 พระคงสีดำ เป็นพระคงเนื้อแกร่งที่มีความราบเรียบของเนื้ออย่างสวยงาม หน้าตาหูปากจมูก ชัดเจนบริบูรณ์ เนื้อเป็นสีดำออกเขียวที่เรียกกันว่า”สีมอยดำ”ที่ถูกเผาด้วยไฟที่มีอุณหภูมิสูง ท่านลองขยายภาพดูก็จะเห็นเนื้อขององค์พระที่แท้จริง จุดสังเกตุต่างๆชัดเจนในทุกจุดสภาพเต็มร้อย ไม่บิ่นหรือแตกหักเสียหายในส่วนใด เป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี สีดำออกเขียวนี้เป็นสีที่มีเสน่ห์และเป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมสะสมกันเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันพระคงที่สวยงามพร้อมแบบที่นำมาให้ท่านได้ชื่นชมนี้เป็นของหายากสุดๆไม่มีพบในสนามเพราะโดนเก็บเข้ารังเรียบร้อย จึงได้นำมาลงให้ได้เห็นว่าพระคงที่งามด้วยศาสตร์และศิลปะอันแท้จริงจะเป็นพระคงแบบนี้ ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีนานมาแล้ว

ภาพที่ 7 พระคงสีขาวค่อนไปทางสีพิกุล เป็น”พระคงพิมพ์ตากบ”ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พระคงพิมพ์นี้เป็นพระคงที่หายากไม่ปรากฎในสนามพระมาก่อนทั้งอดีตหรือปัจจุบัน เป็นพระคงเก่าเก็บ ความงดงามและสมบูรณ์นั้นเต็มร้อย องค์พระประทับบนฐานพระแท่นอย่างสง่าและองอาจสมกับได้ชื่อว่าพระคงอันบึกบึน เส้นสายรายละเอียดในองค์พระคมชัด ให้สังเกตุใบโพธิ์นั้นจะมีปลายใบที่เรียวแหลมมีลักษณะเป็นแบบใบโพธิ์จริงๆ ตรงกลางใบจะเห็นเป็นรอยบุ๋ม นี่จะเป็นลักษณะของใบโพธิ์ ของพระคงที่เป็นพิมพ์ที่มีหน้าตา หูปากจมูกครบเกือบทุกพิมพ์ที่ใส่รายละเอียดต่างๆเข้าไว้ในองค์พระมากกว่าพระคงพิมพ์ที่ไม่มีหน้าตาปรากฎ อันเป็นความคิดในเชิงสร้างสรรค์ของเชิงช่าง ในสมัยนั้น เพื่อให้พระแต่ละบล๊อกแต่ละพิมพ์เกิดความแตกต่างกัน ซึ่งข้อแตกต่างเหล่านี้ใช้เป็นข้อสังเกตุฝีมือเชิงช่างได้อย่างหนึ่ง ด้านหลังเป็นแบบหลังคลึงอูมนูนพองาม ไม่ปรากฎลายนิ้วมือให้เห็น จะมีก็เพียงคราบกรุที่ติดอยู่พอประมาณจึงเก็บเอาไว้ให้เป็นที่สังเกตุ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน.

ภาพที่ 8 เป็นภาพของพระคงดำอีกพิมพ์หนึ่งที่ถือกันว่าเป็นพิมพ์นิยม พระคงพิมพ์นี้มีหน้าตาที่ติดพิมพ์พอมองเห็นลางๆ ความสมบูรณ์ต่างๆในองค์พระเต็มร้อย มีคราบกรุติดตามซอกมุมต่างๆอย่างติดแน่น ผู้เขียนยังสภาพเดิมๆของคราบกรุเอาไว้ ให้ได้ดูเป็นตัวอย่างของการศึกษา ซึ่งจะมองเห็นคราบกรุดังกล่าวทางด้านหลังที่ดูอูมนูนหนาพองาม ความเก่าและเหี่ยวย่น เป็นหลุมบ่อแสดงให้เห็นทางด้านหลัง เส้นสายรายลเอียดและจุดสังเกตุต่างๆมีอยู่อย่างถูกต้อง เป็นพระที่ถูกใช้นำติดตัว เพื่อความเป็นศิริมงคล เนื้อพระจึงถูกเนื้อตัวทำให้มีเนื้อที่นวลเนียนตามลักษณะของพระที่ถูกใช้ ฟอร์มพระเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบทุกประการ ไม่สึกหรอหรือแตกบิ่นในส่วนใด ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน.

ภาพที่ 9 เป็นพระคงสีขาวอมชมพูที่มีหน้าตางามเหมือนตุ๊กตา ให้ท่านลองขยายภาพดูก็จะมีความเห็นเช่นเดียวกันกับผู้เขียน เศียรของพระคงพิมพ์นี้ดูค่อนข้างกลม มีคิ้วที่โก่งไม่เป็นรูปปีกกาเหมือนพระคงบางพิมพ์ เป็นพิมพ์ที่แตกต่างออกไปอีกรูปแบบหนึ่งมองดูน่ารัก จมูกโด่งเป็นสันพองาม ปากเป็นปื้นหนาคล้ายปากของพระเปิมกรุวัดพระธาตุเจ้าหริภุญไชย องค์ประกอบต่างๆในองค์พระลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเส้นสายรายละเอียดของกิ่ง ก้านและใบโพธิ์ เป็นความลงตัวที่น่าทึ่งสำหรับเชิงช่างหริภุญไชยโดยแท้ ขนาดไม่ใหญ่นักเป็นขนาดมาตรฐามพอเหมาะพองาม เนื้อหานั้นเป็นแบบเนื้อละเอียดดูเนียนตา ด้านหลังงามเรียบร้อย มีคราบกรุติดอยู่พอประมาณ จะเห็นรอยหยักที่ก้นฐาน ที่เป็นการกดยกพระขึ้นจากแม่พิมพ์ ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน.

ภาพที่ 10 เป็นภาพของพระคงดำพิมพ์เดียวกันกับพระคงดำในภาพที่ 4 ที่มีความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย มีความคมชัดทั้งหู ปากหน้า ตารวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆอย่างพร้อมมูล เป็นพระคงที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ไม่มีปรากฎให้เห็นกันง่ายๆในสนามพระ เนื้อพระเป็นแบบเนื้อที่แกร่ง ไม่มีส่วนใดสึกหรอ องค์พระอวบอ้วน บึกบึนสมกับความเป็นพระอยู่คงโดยแท้ ด้านหลังอูมนูนหนามีรอยกดอย่างตั้งใจที่จะให้องค์พระมีความคมชัด ซึ่งผลที่ออกมาจึงได้พระคงที่งามมีหน้าตาพร้อมสมบูรณ์ทุกประการ เราสามารถชี้ตำหนิและจุดสังเกตุได้อย่างถูกต้องทุกประการ โดยเฉพาะเนื้อหาขององค์ที่มีเนื้อที่เก่าแก่ดูง่าย ท่านลองขยายภาพให้ใหญ่และค่อยๆพิจารณาดูก็จะเห็นตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษ๊ อำเภอเมืองลำพูน.

ภาพที่ 11 เป็นภาพของพระคงสีขาวอมสีเนื้ออ่อน เป็นพระคงอีกพิมพ์หน่งที่ไม่มีเผยแพร่ในที่แห่งใด เป็นพระคงพิมพ์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนใหญ่ของพระคงชนิดที่มีหน้าตาและความงดงามสมบูรณ์นั้น จะเป็นพระคงที่ขุดได้ใต้แท่นพระประธานของวิหารวัดพระคงเมื่อครั้งมีการบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ในปีพ.ศ 2519 และพระคงชนิดที่มีหน้าตางดงามพร้อมนั้นจะตกอยู่ในมือของกรรมการวัดไม่กี่คน ภายหลังท่านเหล่านั้นเสียชีวิตลงไป บรรดาลูกหลานที่ไม่รู้คุณค่าของพระกรุโบราณชนิดนี้จึงทำให้องค์พระอันมีคุณค่า หลุดลอยออกมา สู่ผู้เขียน จึงได้นำออกมาเผยแพร่ให้ได้รับรู้กัน เพื่อเป็นการสืบสานข้อมูลต่างๆมิให้ต้องสูญไปโดยไม่มีผู้ใดทราบเรื่อง ความคมชัดของเส้นสายรายละเอียดต่างๆในองค์พระนั้นมีอย่างบริบูรณ์ในทุกจุด มีคราบกรุของผงดินสีเทาดำตามซอกมุมต่างๆที่ทำให้ลวดลายของโพธิ์ประดับมองดูเห็นอย่างเด่นชัด เศียรขององค์พระค่อนข้างกลม ดวงตานูนโปนออกมาเป็นแบบตาเนื้อ ไม่มีคิ้วให้เห็น จมูกโด่งเป็นสันพองามปากติดพิมพ์นิดๆ องค์พระล่ำสันดูบึกบึน ความ สมบูรณ์และลงตัวเต็มร้อย ด้านหลังอูมนูนหนาเรียบร้อยมองเห็นลายนิ้วมือปรากฎลางๆ คราบกรุติดพองามมองเห็นความเก่าแก่ของเนื้อพระที่บ่งถึงความมีอายุ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา1 1/4 ซ.ม สูง 3 1/4 ซ.ม ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษี อำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 12 เป็นภาพของพระคงสีดำ อมน้ำตาล เป็นพระคงพิมพ์ที่เห็นหน้าตาเพียงลางๆแต่ก็เป็นที่นิยมของเซียน พระรุ่นเก่า เพราะเป็นค่านิยมเฉพาะตัว ทั้งเคยทราบมาจาการกล่าวในยุคก่อนๆว่า พระคงที่มีหน้าตางามสมบูรณ์ นั้นไม่มี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเป็นอย่างมาก ความจริงแล้ว ศิลปะในพระเครื่องชุดสกุลลำพูนนั้น ทุกคนต่างยอมรับกันว่าเป็นพระกรุโบราณที่มีพุทธศิลป์ยอดเยี่ยมมากกว่า พระกรุในที่แห่งใด นอกจากพระคงดำอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว “พระรอด”ของวัดมหาวันลำพูน สุดยอดพระกรุที่มีขนาดเล็กเท่าปลายก้อย ซึ่งเล็กกว่าพระคง ยังมีลวดลายและหน้าตา หู ปาก จมูกงามพร้อมให้ได้เห็นปรากฎอยู่ สำหรับพระคงซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านั้น ทำไมจะไม่มีชนิดที่มีหน้าตา ปากจมูกและงามพร้อมปรากฎให้ได้เห็น จนกระทั่งมีการแตกกรุครั้งใหญ่ในปี พ.ศ 2519 ความจริงจึงปรากฎออกมาให้ได้รู้กัน คำว่า “กรุเก่า กรุใหม่”จึงได้เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งเป็นการเล่นคำ ของบรรดาผู้ที่เล่นสะสมที่มีความอยาก เพื่อที่ จะได้พระกรุที่งามสมบูรณ์พร้อมเป็นของตัวเองอย่างง่ายๆ พระคงดำองค์นี้เป็นพระกรุเก่า คือเป็นพระที่ผ่านการใช้จับต้องมาพอประมาณ จึงมีเนื้อหาที่ดูหนึกนุ่มตา เส้นสายรายละเอียดต่างๆมีอย่างพร้อมมูล ด้านหลังมีคราบกรุติดอยู่แน่นพอมองเห็น หลังเป็นแบบหลังคลึง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 13 เป็นภาพของพระคงสีขาวที่งามสะอาด ดูเรียบร้อยงามนุ่มตา เป็นพระคงสีขาวพิมพ์เดียวกันกับพระคงในภาพที่ 11 ขนาดนั้นจะย่อมลงไปเล็กน้อย ดูงามน่ารักไปอีกรูปแบบหนึ่ง เส้นสายรายละเอียดของใบโพธิ์ประดับ รวมทั้งกิ่งก้านใบและเส้นสายต่างๆงามเรียบร้อยและคมชัดดีมาก ท่านลองขยายภาพดูก็จะรู้เห็นเป็นประจักษ์ ค่อยๆดูและพิจารณาดูก็จะได้รู้และเข้าใจในพระคงของเมืองลำพูนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะหาดูไม่ได้ในที่อื่นใด การเรียนรู้และศึกษาพระกรุของเมืองลำพูนนั้นไม่ได้เป็นของยากเกินความสามารถของเราไปได้ ถ้าหากเราสนใจที่จะศึกษาและไข่วคว้าเอา ยิ่งมีคำอธิบาย ชี้ให้ได้เห็นความเป้นไปต่างๆยิ่งเป็นเรื่องที่ง่ายแก่การทำความเข้าใจ และได้รู้อย่างลึกซึ้ง พระกรุของเมืองลำพูนทุกชนิดและทุกพิมพ์นั้น จะมีความสง่างามและลงตัวในความลึกซึ้งในพุทธศิลป์ หากได้ศึกษาและสนใจอย่างถ่องแท้ก็จะเกิดความหลงไหลในองค์พุทธปฏิมา ประติมากรรมชิ้นเล็กๆของเมืองโบราณแห่งนี้อย่างน่าทึ่งและอัศจรรย์ใจยิ่ง ซึ่งก็เป็นความจริงแท้อย่างที่ยากจะปฏิเสธได้ ด้านหลังขององค์พระคงองค์นี้ดูเรียบร้อยทุกประการ มองเห็นลายนิ้วมือที่ทำการกดพิมพ์และคราบกรุติดอยู่อย่างพองาม ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดพบที่ วัดพระคงฤาษีอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 14 พระคง ดำออกน้ำตาลที่เป็นพระคงดำเนื้อแกร่งที่มีความงดงามของเนื้อและความคมชัดของพิมพ์อย่าง น่า นิยม เป็นพระคงดำอีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งท่านต้องสังเกตุและศึกษาให้ดีก็จะได้เห็นความแตกต่างของพระคงองค์นี้กับพระคงองค์อื่นๆ ผู้เขียนได้คัดกรองนำเอาพระคงหลากหลายพิมพ์หลากหลายบล๊อกที่เป็นพระกรุแท้ๆมาให้ได้ศึกษากัน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ท่านในการเรียนรู้และค้นหาความจริง อันแน่แท้ต่อๆไป ซึ่งพระคงลำพูนนั้นมีหลายพิมพ์หลายบล๊อก แต่ละพิมพ์แต่ละบล๊อกจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง ในเรื่องของหน้าตา รูปร่างขององค์พระ แต่ฟอร์มส่วนใหญ่จะบ่งบอกถึงความเป็นพระคงอย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน การจะเล่นหรือเก็บสะสมนั้นต้องดูความเป็นพระคงที่แท้เป็นหลัก ศิลปะและความมีอายุของเนื้อดินนั้น จะเป็นตัวฟ้องให้เห็นความเป็นจริง การขยับเขยื้อนของเส้นสายรายละเอียดต่างๆย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้มีในพระคงทุกองค์ สำคัญที่สุดก็คือจุดสังเกตุและจุดลับที่บ่งบอกถึงความหมายและความมีศิลปะจะเป็นตัวชี้ชัดว่าพระแท้นั้นเป็นอย่างไร ค่อยเรียนรู้และศึกษาก็จะรู้ได้ พระคงองค์นี้มีหน้าตา หูปากจมูกครบถ้วนสมบูรณ์ เศียรค่อนข้างกลม ดวงตาติดชัดเป็นแบบตาโปนนูนเด่นเห็นชัด จมูกเป็นสันบานพองาม ปากเป็นปื้นตามลักษณะของพระกรุเมืองลำพูน สังเกตุใต้จมูกเหนือริมฝีปากบน จะเห็นเส้นเล็กๆเส้นเดียวเป็นเส้นโค้งตามรูปของริมฝีปากบน เส้นนี้คือเส้นเรียวหนวดที่ปรากฎให้เห็น หน้าของพระคงพิมพ์นี้จะเชิดขึ้น ขนาดกระทัดรัด ไม่เล็กหรือใหญ่ มีความพอดีและลงตัวอย่าน่ารัก ด้วยความที่ถูกเผาด้วยไฟแรงทำให้ เนื้อในประทุออกมาให้เห็นเป็นจุดดำเป็นเม็ดๆคล้ายเม็ดแร่ บางจุดเล็กบางจุดใหญ่ที่กล่าวมานี้คือ เป็นเนื้อแท้ของพระคงที่ถูกไฟเผาอย่างร้อนแรง ด้านหลังก็มีปรากฎให้เห็น คราบกรุติดแน่นตามซอกมุมต่างๆ ขนาดขององค์พระกว้าง 1 1/2 ซ.ม หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ด้านขวาขององค์พระมีปีกที่พับเข้าหาด้านข้าง ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 15 เป็นภาพของพระคงสีขาวอีกพิมพ์หนึ่ง เรียกว่าเป็นพิมพ์หน้าตุ๊กตา พระคงพิมพ์นี้จะมีเส้นสายรายละเอียดต่างๆค่อนข้างหนา หัวจะนูนกลมโตดูเด่น มีหน้าตาที่เหมือนกับตุ๊กตาหรือกุมารทอง พระคงพิมพ์นี้ปรากฎออกมาให้เห็นในตอนที่มีการขุดดินบริเวณสถานีตำรวจภูธรของเมืองลำพูนเมื่อประมาณสี่ ห้าปีก่อน
เมื่อนำกล้องขยายขึ้นส่องก็ปรากฎให้เห็นความเก่าของเนื้อและจุดสังเกตุต่างๆครบถ้วนทุกอย่าง เพียงแต่ว่าพระคงพิมพ์นี้มีจำนวนจำกัดจึงพบเห็นน้อย ผู้เขียนจึงได้นำมาชี้แจงแสดงบอกให้ได้รู้กัน เพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้าต่อไป ด้านหลังนูนเนื้อหนาเป็นหลังแบบหลังคลึงเหฌนลายนิ้วมือและคราบกรุติดพองาม ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 16 เป็นพระคงสีแดงเนื้อผ่านดำตรงส่วนกลางอกลงมา ผู้เขียนได้นำพระคงสีและพิมพ์ต่างๆมาให้ดูเพื่อเป็นการศึกษาและเปรียบเทียบกัน ส่วนใหญ่พระคงที่นำมาแสดงนี้จะเป็นพระคงที่งามสมบูรณ์แบบในทุกประการ ไม่มีปรากฎในสนามพระหรือในที่อื่นใด ทำให้มีผู้ที่ไม่เคยรู้และเคยเห็นพระคงทั้งหมดที่นำมาแสดง เกิดความสงสัยว่าจะมีพระคงที่งดงามสมบูรณ์เช่นนี้อยู่จริงๆหรือ ด้วยเหตุนี้จึงขอให้ท่านค่อยๆพิจารณาและศึกษากันอย่างละเอียดให้ได้เข้าถึงจริงๆ ผู้เขียนไม่เอาข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ถูกต้องมานำเสนอให้เสียเวลาดอก เป็นความตั้งใจจริงที่จะให้ศึกษาและเล่นสะสมกันให้ถูกทางและถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นข้อมูลอันถูกต้องสำหรับการเรียนรู้อันเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดินบ้านเกิด ซึ่งหากผู้เขียนไม่เขียนไม่ทำออกมาเผยแพร่ให้ข้อมูลและรายละเอียดเช่นนี้แล้วจะมีผู้ใดทำ พระคงองค์นี้ขึ้นมานานแสนนานแล้ว อยู่ในมือเซียนใหญ่รุ่นเดอะที่มีชื่อเสียงเมื่อห้าหกสิบปีก่อน ผู้เขียนได้มาไว้จึงได้นำออกมาให้ได้เห็นกัน เนื้อหาขององค์พระงามเรียบร้อย รวมทั้งการติดพิมพ์มีความคมชัดอย่างบริบูรณ์สมกับพระเก่าเก็บที่อยู่ในความครอบครองของเซียนใหญ่ในสมัยก่อนเก่า พระคงองค์นี้มีพรายปาก มีกระจังหน้า มีดวงตาที่นูนโปนเด่นเป็นสง่า มีดวงหน้าที่งดงามดูไม่ดุดัน ผู้ที่มีพระคงงดงามแบบนี้จะบอกหลอกกันว่าเป็นพระคงของวัดมหาวันลำพูนอันเป็นกรุของพระรอดที่มีค่าราคาสูงเพื่อจะได้ราคา อันเป็นการเห็นแก่ได้อย่างไม่มีคุณธรรม วัดมหาวันนั้นเป็นวัดของกรุพระรอดเท่านั้น หากจะมีพระคงปรากฎก็เป็นเพียงพระที่นำมาฝากกรุไว้ในสมัยโบราณเท่านั้น ทำไมไม่มีพระรอดปรากฎอยู่ที่วัดพระคงบ้าง ขอฝากให้เป็นข้อคิดกัน พระคงพิมพ์นี้เซียนใหญ่รุ่นเดอะจะเรียกกันว่า “พระคงหน้าฤาษี” ภายหลัง มีการขุดพบพระคงที่มีรูปลักษณะแบบนี้ ในบริเวณสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน ด้านหลังของพระคงองค์นี้เป็นแบบปาดข้าง ไม่มีเนื้อเกินปรากฎความงามเต็มร้อย ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 17 เป็นพระคงดำที่ถือกันว่าเป็นพิมพ์นิยมกัน หน้าตาไม่ชัดเหมือนกับพระคงองค์อื่นๆเป็น เพราะเนื้อหาที่เนียนนุ่ม เมื่อจับต้องดูจะเกิดความรู้สึกเนียนมือมีคนลองจับดูก็จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ก็เป็นเรื่องแปลก พระคงแบบนี้ เป็นพระคงที่เรียกกันว่าพระคงกรุเก่าที่โดนถูกใช้ ถูกจับต้องกันบ่อยครั้งจนมีเนื้อหา ที่งามเรียบ ถูกตาถูกใจของผู้ที่นิยมเล่นหากัน ซึ่งความนิยมชมชอบกันแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคนกัน จะเป็นเพราะมีความเชื่อกันแบบนี้ หรือเพราะไม่มีพระคงที่งดงามมีหน้าตาชัดเจนให้เล่น หรือจะเป็นเพราะเล่นกันเพราะความชอบซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ที่มีความชอบที่แตกต่างกัน ด้านหลังเป็นแบบหลังคลึงมีลายนิ้วมือปรากฎอยู่ เส้นสายรายละเอียดต่างๆมีปรากฎในทุกจุด ฟอร์มพระจัดได้ว่าเต็มร้อยเพียงแค่ไม่มีหน้าตาให้ได้เห็นเท่านั้น ขนาดย่อมกว่าพระคงองค์อื่นๆบ้างเป็นเพราะการหดตัวของเนื้อดินขององค์พระที่ดูแน่น ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่ วัดพระคงฤาษีอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 18 เป็นภาพของพระคงสีชมพูแดง ที่ติดพิมพ์ชัดเจนในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นหน้าตาหูปากจมูก พระคงพิมพ์นี้ในสมัยก่อนจะเรียกกันว่า”พระคงแดงหน้ายักษ์” ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาเรียกกัน ท่านลองขยายภาพให้ใหญ่และพิจารณาดูส่วนใบหน้าก็จะเห็นความดุดันเอาจริงเอาจังของใบหน้า ดวงตาที่นูนเป็นแบบตาเนื้อที่ยาวรี จมูกบาน ปากแบะ ที่มุมปากจะเป็นรอยบุ๋มทั้งสองข้าง เหนือริมฝีปากบนจะมีเรียวหนวดเป็นเส้นเล็กๆปรากฎอยู่ซึ่งถือเป็นแบบฉบับของศิลปะหริภุญไชยที่ได้รับอิทธิพลจาศิลปะละโว้หรือลพบุรีอยู่ ความชัดเจนของนิ้วมือขวาที่วางอยู่เหนือฐาน ชายจีวร บนข้อมือและหน้าแข้งติดเห็นชัด การปรทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรอย่างสง่างามน่านิยมยิ่ง คราบกรสีขาวติดตามพื้นผิวบางๆ ใบโพธิ์ ก้าน กิ่งโพธิ์ติดงามแทบทุกใบ ส่วนด้านหลังมีคราบกรุติดค่อนข้างหนา และติดแน่นผู้เขียนไม่เอาออก เพราะต้องการให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 19 เป็นภาพของพระคงดำออกน้ำตาลนิดๆที่มีความสมบูรณ์แบบในทุกประการไม่ว่าจะเป็นหน้าตาหูปาก จมูก คราบกรุที่ติดตามพื้นผนังหรือตามซอกมุมต่างๆเป็นคราบกรุที่มีสีออกไปทางสีน้ำตาล จึงทำให้ดูสีขององค์พระเป็นสีดำอมน้ำตาล บางทีเขาจะเรียกกันว่าสีดำคราบแดงกัน พระคงองค์นี้มีคิ้วแบบคิ้วโก่ง หัวคิ้วไม่ติดกันเป็นรูปปีกกา เป็นคิ้วแบบโดดๆ มีดวงตาที่นูนโปน จมูกเป็นสันนูนพองามเหนือริมฝีปากที่เป็นลักษณะของเดือนเสี้ยวที่หงายขึ้น แบบเดียวกับริมฝีปากของพระเปิมกรุวัดพระธาตุเจ้าหริภุญไชย อันเป็นลักษณะของศิลปะหริภุญไชยโดยเฉพาะ ขนาดมีความกระทัดรัดพองามเนื้อเป็นเนื้อแบบเนื้อแกร่งแข็งเป็นหิน งามสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดพระคงฤาษี อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 20 เป็นพระคงพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่สีขาวที่งามสมบูรณ์พร้อมทุกสัดส่วน ไม่บิ่นหรือหักหรือลบเลือนในส่วนใด ผิวพระดูสะอาด ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดอยู่ สำหรับพระคงพิมพ์หน้าตุ๊กตานี้มีกิ่ง ก้านและใบโพธิ์ค่อนข้างหนาผิดแปลกแตกต่างกับพิมพ์อื่นๆ ท่านลองสังเกตุและพิจารณาดู เป็นพระคงพิมพ์ที่ดูแปลกกว่าพระคงพิมพ์อื่นๆในส่วนขององค์ประกอบ แต่เมื่อส่องดูเนื้อก็จะเห็นความเก่าปรากฎฟ้องอยู่ในตัว พระคงพิมพ์นี้ขุดพบที่บริเวณของสถานีตำรวจอำเภอเมืองลำพูน ที่เคยเป็นบริเวณส่วนหนึ่งของวัดพระคงฤาษีในสมัยโบราณ ด้านหลังจะเห็นรอยกดพิมพ์ของนิ้วมือ มองเห็นลายนิ้วมือติดอยู่ ตรงส่วนก้นของฐานจะหนา ส่วนปลายข้างบนขององค์พระจะบาง พองาม ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 21 พระคงสีดำพิมพ์ไม่มีหน้าตาอีกองค์หนึ่งที่มีเนื้อนวลและแกร่ง เป็นพระกรุเก่าที่ถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี พระคงดำองค์นี้เคยเป็นพระคงองค์ที่หวงแหนของเซียนพระผู้เป็นเจ้าของในสมัยนั้น แต่จีรังไม่มีในโลก สมบัตินั้นผลัดกันชม ดังที่ผู้คนเขากล่าวว่ากัน พระคงองค์นี้จึงตกมาอยู่กับผู้เขียน พระคงดำองค์นี้มีขนาดเล็กกระทัดรัด เป็นพระคงที่มีเนื้อที่แข็งแกร่งแต่เนื้อขององค์พระจะนวลเนียนอย่างหนึกนุ่ม ทั้งองค์พระและสีสัน ความคมชัดของเส้นสายรายละเอียดต่างๆติดพิมพ์อย่างงดงามไม่สึกหรอในส่วนใด สมกับที่เจ้าของเดิมเขาหวงแหนเอามากๆ ด้านหลังราบเรียบกลมกลึงอย่างเรียบร้อย มองเห็นความเก่าแก่ของเนื้อที่สมกับอายุของพระกรุอย่างแท้จริง เมื่อใช้กล้องจับตาดูจะเห็นคราบกรุรวมทั้งราดำที่ฝังแน่นอยู่ในเนื้อพระ ถือกันว่าเป็นความงาม ซึ้งตาซึ้งใจยากที่จะบอกออกมา พระคงที่มีเนื้อนวลเนียนแบบนี้แหล่ะที่มัดจะถูกเอ่ยอ้างว่าเป็นพระคงของวัดมหาวันกรุของพระรอด ซึ่งเป็นกล่าวยกเมฆกันมากกว่า พระคงองค์นี้ขุดได้ในบริเวณของวัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูนนานมาแล้ว ผู้เขียนจึงได้นำออกมาชี้แจงแสดงบอกให้ได้รู้เห็นกัน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 22 พระคงสีขาว พิมพ์มีหน้าตาหูปากจมูกครบ สมบูรณ์ในทุกสัดส่วน ไม่มีที่ติหรือบกพร่องในส่วนใด ความงามนั้นเต็มร้อย พระคงองค์นี้มีเนื้อหาที่นวลเนียน และมีความเก่าของอายุอย่างเต็มตัว พระกรุที่แท้จริงนั้นไม่ได้เป็นพระที่ดูยากเลย เราจะต้องดูฟอร์มพระก่อนเป็นลำดับแรก ว่ามีความงามของศิลปะที่มองดูแล้วสะดุดตาสะดุดใจหรือไม่ เมื่อเกิดความรู้สึกถึงความงดงามและความมีศิลปะของฟอร์มพระ เราจึงค่อยมาดูเนื้อหา และพิมพ์ทรงว่าเป็นเช่นไร ต่อจากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาถึงเส้นสายรายละเอียด จุดลับจุดสังเกตุต่างๆ ซึ่งในพระกรุแท้ๆเท่านั้น จะมีปรากฎในองค์พระอย่างเต็มตัว ดูกันง่ายๆกันเป็นเบื้องต้นกันก่อน เชื่อแน่ว่าทุกคนนั้นต้องมีศิลปะอยู่ในหัวใจ การที่จะชอบสิ่งสวยๆงามๆและสมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิด ขอเพียงแต่ว่าให้พิจารณาดูให้ดีๆอย่างมีสติแล้วจึงค่อยๆคิดพิจารณากัน ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่จะยากเกินไป หากว่าเราต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้กันจริงๆ จงอย่าเล่นพระแบบเล่นด้วยหู จงดูด้วยตาและพิจารณาค้นหาความจริง ความเป็นจริงนั้นพระกรุนั้นต่างก็มีหลากหลาย ทั้งงามและไม่งามไม่ได้เหมือนกันหมดทุกองค์ ความแตกต่างนั้นมีอย่างมากมายเราต้องหาทางเรียนรู้ให้เข้าใจให้ดี ของเก่ากับของใหม่ ของสวยกับไม่สวย ของสมบูรณ์กับของที่แตกหัก ความต่างของพิมพ์พระแต่ละพิมพ์นั้นย่อมจะมีเป็นธรรมดา หากเรารู้และเข้าใจก็ไม่มีอะไรยากเลย บางคนได้เห็นพระที่ผู้เขียนนำมาแสดง ก็เกิดความสงสัยว่าจะมีพระกรุที่งดงามและสมบูรณ์เช่นนี้หรือ หากไม่มีและไม่ใช่พระกรุที่แท้จริง ผู้เขียนมีหรือที่จะกล้านำมาเผยแพร่แสดงให้ดู ทุกอย่างนั้นเรา ต้องค่อยๆเรียนรู้และศึกษา ให้ดูความตั้งใจและความปรารถนาดีให้ลึกซึ้งกันบ้าง อย่าเอาความไม่มีเหตุผลมาเป็นเครื่องตัดสินกันเลย ของสวยๆงามๆที่เป็นถาวรวัตถุที่งดงามของศิลปะหริภุญไชย ยังมีอีกมากและรอการเผยแพร่ให้เป็นความรู้สำหรับลูกหลานและบ้านเมืองเรา ทำใจให้กว้างและมีเหตุผลกันหน่อย ก็จะเป็นการดี คิดหรือทำอะไรให้เป็นการสร้างสรรกันดีกว่า บ้านเราเมืองเราจะได้เจริญขึ้นไม่ได้เจริญลง ว่ากันมาเสียยืดยาวแต่ให้ท่านผู้อ่านที่สนใจลองนำไปคิดและพิจารณาดู ผู้เขียนยังจะทำงานที่ตัวรักและจะเผยแพร่ความรู้ อันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินที่มีคุณค่าเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักต่อไป พระคงสีขาวองค์นี้จะมีใบโพธิ์ที่มีรูปลักษณ์เป็นแบบของใบพิ์จริงๆ คือมีปลายใบที่เรียวยาวแหลม ตัวใบอวบอ้วบคามแบบของใบโพธิ์ของจริง กลางใบจะเป็นรอยบุ๋มทุกใบอันเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของพระคงพิมพ์ที่มีหน้าตางามพร้อม เส้นสายต่างๆนั้นมีความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง ไม่แข็งทื่อหรือมีข้อบกพร่องในส่วนใด องค์พระสง่างามอย่างน่านิยมสมกับชื่อของพระคงโดยแท้ ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ด้านหลังขององค์พระงามเรียบร้อย มีคราบกรุปรากฎอยู่พอเหมาะ ก้นฐานเป็นรอยหยักที่เกิดจาการยกตัวออกจากพิมพ์ ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 23 เป็นพระคงเขียวหินครกดำมอยที่มีเนื้อแข็งแกร่งที่เป็นเพราะถูกเผาด้วยไฟที่ร้อนแรง มีเม็ดแร่สีดำในองค์พระที่ประทุออกมา ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ให้ท่านใช้กล้องขยายลองจับดูก็จะเห็น แต่ก็ไม่น่าเกลียด กลับทำให้องค์พระเกิดความเข้มขลังขึ้นอย่างน่าประหลาด เสน่ห์ของพระกรุที่แท้จริงก็จะมีส่วนประกอบเช่นนี้ คราบกรุติดบางๆแต่ติดฝังแน่นกับองค์พระ หน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์ ชัดเจนดี มีกระจังหน้า แบ่งกรอบหน้าให้ดูงามขึ้น ดวงตาเป็นเม็ดงาตรงปลายยาวรีเล็กน้อย จมูกเป็นสันโด่งพองามรับกับใบหน้าอย่างลงตัว มองเห็นริมปากที่มีรอยยิ้มอย่างเมตตา บนริมปากบนมองเห็นพรายปากเป็นเส้นเล็กๆ องค์พระล่ำสันตามแบบฉบับของพระคง ลำพูน โดยแท้ ด้านข้างซ้ายขององค์พระจะมีเนื้อเกินที่เป็นปีกม้วนตัวมาทางหน้าพอประมาณ ปีกทางด้านขวามีอยู่เพียงน้อยนิด สร้อยข้อมือหรือสร้อยหน้าแข้งซึ่งที่แท้คือชายจีวรติดเห็นชัดเจน เม็ดบัวกลมใต้ฐานประทับกลมมนชัดเจน ปลายมือซ้ายจะมองเห็นปลายนิ้วชี้จรดกับลำแขนขวาที่วางพาดลงไป ปลายมือขวาจรดพื้นของแท่นฐาน ด้านหลังเป็นแบบหลังแบน มีลายนิ้วมือปรากฎอยู่ มองเห็นรอยเหี่ยวย่นและความแกร่งของเนื้อพระได้อย่างลงตัวพระคงองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บที่รักษาไว้เป็นอย่างดี สภาพเดิมๆอย่างเต็มร้อยขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูนเมื่อนานแสนนานที่ผ่านไป ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 24 พระคงสีพิกุล อีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่มีปรากฎให้เห็นในสนามพระหรือที่แห่งใด ด้วยความเก่าเป็นพระคงที่แท้จริง จึงได้นำมาแสดงเพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ได้รู้กัน พระคงพิมพ์นี้คือ”พระคงพิมพ์หน้าฤาษี” เป็นพระคงพิมพ์ที่หายากและพบเห็นกันน้อย มีเพียงไม่กี่สิบองค์เท่านั้น ความคมชัด ความได้สัดส่วนความสมบูรณ์และมีองค์ประกอบแห่งศิลปะในองค์พระนั้นมีอย่าเต็มที่และสมบูรณ์แบบ พระกรุของเมืองลำพูนแทบจะทุกชนิดนั้นจะมีความงดงามและเต็มไปด้วยองค์ประกอบของศิลปะ ที่ช่างได้รังสรรขึ้นมาอย่าปราณีตบรรจง และด้วยความตั้งใจโดยแท้ ดังนั้นศิลปะในพระกรุของเมืองลำพูนจึงเป็นที่นิยมและต่างก็ยอมรับในฝีมือของเชิงช่างโดยแท้ หากไม่เชื่อท่านลองเลือกเอาพระกรุจากที่แห่งแหล่งอื่นมาเปรียบเทียบดูก็จะเห็นความเป็นความจริง ผู้เขียนเก็บสะสมพระกรุของเมืองลำพูนเพราะรัก ในพุทธศิลป์ของประติมากรรมชิ้นเล็กๆนี้ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น จึงอดไม่ได้ที่จะต้องนำสิ่งที่ดีมีคุณค่าทางใจอย่างเพียบพร้อม มานำเสนอให้ได้รู้เห็นเป็นกันและเก็บสะสมกันอย่างถูกต้องเต็มไปด้วยเหตุผลอันแท้จริง ไม่ได้เล่นอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทางกัน ของดีๆที่สวยงามเต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่าที่มีอยู่ในเมืองโบราณอันเก่าแก่นับเป็นพันปี ท่านไม่เล่นและเสาะหากันนั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และผิดหวังเป็นที่ยิ่ง เพราะต่อๆไปก็จะไม่มีเหลือให้ท่านได้พบเห็น จะเหลือเพียงเป็นตำนานให้ได้รู้เห็นกันเพียงเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน ตามใจและสุดแล้วแต่ความพอใจของแต่ละคนกันดีกว่า พระคงหน้าฤาษีองค์นี้ ขุดพบในบริเวณของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ที่เคยเป็นบริเวณส่วนหนึ่งของวัดพระคงฤาษีในสมัยโบราณ ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนไปตามกฎอนิจจังนั้นไม่เที่ยง พระคงพิมพ์นี้ ขุดได้พร้อมๆกับพระคงพิมพ์หน้าตุ๊กตาและพระคงพิมพ์ที่ไม่มีหน้าตาสีต่างๆ รูปหน้าของพระคงพิมพ์นี้จะมีคางที่แหลมแก้มตอบนิดๆเป็นลักษณะของคนแก่ มีกระจังหน้า ที่แบ่งกรอบหน้าชัดเจนดี จมูกใหญ่บานออก ปากเป็นปื้น ความคมชัดของใบโพธิ์กิ่งก้านต่างๆคมชัด องค์ประกอบในทุกส่วน มีอย่างบริบูรณ์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีราดำเป็นจุดๆเป็นปื้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง ใช้แว่นขยายสังเกตุดู หลังเป็นหลังเรียบมีรอยนิ้วมือปรากฎให้เห็น คราบกรุติดตามผิวและซอกมุมต่างๆพองาม เนื้อพระมีความเก่าและมีเนื้อละเอียดพอปานกลางเป็นพระที่ไม่ได้ถูกจับต้องหรือถูกใช้ช้ำ คงรูปไว้แบบเดิมๆ เป็นพระคงอีกพิมพ์หนึ่งที่น่าสนใจมาก ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 25 เป็นภาพของพระคงดำพิมพ์จิ๋ว ที่ขุดได้ภายในบริเวณของวัดพระคงฤาษีเมื่อครั้งทำการสร้างโรงครัวของวัดเมื่อหลายปีมาแล้ว พระคงพิมพ์นี้พบไม่มาก ที่ขุดได้มีหลากหลายสีด้วยกัน พิมพ์ทรงและความเก่าของเนื้อเต็มร้อย ด้านหลังแบนราบไม่นูนเด่น มีคราบกรุที่เป็นปูนขาวติดอยู่ทั่วองค์พระ เป็นสภาพเดิมๆที่ผู้เขียนคงไว้ เพื่อให้เห็นว่าพระคงดำลักษณะและสีสันเดิมๆนั้นเป็นเช่นนี้ ซึ่งไม่ได้ดำสนิทเยี่ยงขนกาน้ำ หรือสีดำแบบสีที่ใช้วาดรูปภาพ พระคงพิมพ์นี้ก็เป็นพระคงอีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่มีปรากฎให้พบเห็นในที่แห่งอื่นใด จึงนำมาแสดงให้เห็นเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีพระคงพิมพ์จิ๋วนี้อย่างแท้จริง ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.


เรื่องราวของพระคงดำ หรือ”ลำพูนดำ”ในความเข้าใจของผุ้ที่นิยมสะสม พระกรุรุ่นเก่าทางภาคกลางในยุคเก่าก่อน ก็ได้จบลงแล้ว คงพอที่จะทำให้ท่านที่สนใจได้ทราบและรู้เรื่องราวของพระกรุชุดสกุลลำพูนอันมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการเก็บสะสมกัน พอประมาณ หากมีข้อความใดผิดพลาดผู้เขียนก็ขออภัยมาณในที่นี้ด้วย จะมีประโยชน์เช่นใด ก็ขอมอบให้แก่ผู้อ่านทุกๆท่านที่ได้ติดตามมาโดยตลอด และจะมีอะไรที่จะชี้แนะผู้เขียนก็ยินดีรับฟังเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น วันนี้เราได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวของพระคงดำและพระคงสีต่างๆทั้งหมดรวมถึง 25 องค์ กันอย่างเต็มอิ่ม คงจะพอแก่การ หากสนใจกันจริงๆโอกาสหน้าผู้เขียนจะนำเรื่องราวของพระชุดสกูลลำพูนแบบอื่นๆที่เป็นสีดำอันถือกันว่าเป็นสีที่หายากและดูยาก มานำเสนอเพื่อเป็นความรู้ และศึกษากันต่อไป หากว่ามีข้อสงสัยเช่นไรก็ติดต่อไปคุยกันได้ ทางเลขหมายโทรศัพท์ที่ให้ไว้ ไม่มีปัญหายินดีเสมอครับ สวัสดี.