“เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย” พิมพ์นิยม ปี พ.ศ. 2482. .

โดยสำราญ กาญจนคูหา

“ไม่มีปัญหาใดๆที่จะแก้ไม่ได้ สำคัญที่สุดเราจะต้องมีความพยายามในการที่จะแก้ไขมันอย่างเต็มที่เท่านั้น”

สุดยอดของเหรียญแห่งพระสุปฏิปันโนแห่งแดนดินถิ่นเหนือ ที่ควรคู่กับพระกรุของชุดสกุลลำพูนอันเกริกไกรนั้นคงจะหนีไปไม่พ้น “เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย” นักบุญแห่งลานนาไทย ของปี พ.ศ. 2482 ไปได้ ความศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงของเหรียญรุ่นนี้เป็นที่รู้ และทราบกันไปทั่วทั้งประเทศไทยมานานแสนนานแล้ว ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้ เป็นเหรียญหายากเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั้งหลายทั้งปวง และได้มีเหรียญรุ่นใหม่สร้างตามกันมาอีกหลายรุ่น ทั้งได้มีการทำปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกขายให้ชาวบ้านหรือผู้คนที่ต้องการและไม่รู้เรื่องกันก็มากหลาย ในหนังสือเล่มนี้จะได้นำเสนอเหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยที่เป็นเหรียญยอดนิยมและเป็นเหรียญที่หายากมาให้ท่านได้ชมกัน พร้อมกับคำอธิบายถึงสภาพของเหรียญนั้นๆว่าเป็นอย่างไร.
ครูบาเจ้าศรีวิไชยเกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ณหมู่บ้านเล็กๆที่มีชื่อเรียกกันว่า “บ้านปาง” ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวคือ ริดสีดวงทวารเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 รวมสิริอายุของท่าน 60 ปี 9เดือน 11 วัน. ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดบ้านปาง เป็นเวลา 3 ปีจึงได้เคลื่อนศพไปยังวัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีการประกอบพิธี พระราชทานเพลิงศพ ที่วัดจามเทวีนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ในการพระราชทานเพลิงศพในครั้งนี้นั้น ทางคณะกรรมการได้ทำเหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย ออกมา เพื่อตอบแทนแก่บรรดาผู้คนที่เคารพนับถือท่านครูบาเจ้าศรีวิไชยและได้ร่วมถวายปัจจัยทำบุญแก่ท่านไว้เป็นที่ระลึก เหรียญดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วย

1. เหรียญสำหรับแจกกรรมการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดพิธีกรรมในงานศพ ลักษณะเป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือรูปหยดน้ำ มีทั้งเหรียญทองลงยา เหรียญเงินลงยา มีอยู่สองแบบด้วยกันคือแบบหน้าแก่ไม่ฉลุลายและแบบหน้าหนุ่มฉลุลาย ซึ่งจะได้นำมาแสดงให้ท่านได้เห็นกันต่อไป.
2. เหรียญลักษณะรูปไข่ เหรียญรูปไข่นี้ สร้างด้วย”ทองจังโกฏิ์ “ ที่เคยหุ้มรอบๆองค์พระธาตุเจ้าหริภุญไชยมาก่อน ซึ่งได้ถูกเปลี่ยนออก เนื่องจากมีความเก่าแก่และเกิดการชำรุดเสียหาย และได้ทำการหุ้มใหม่ ทองจังโกฏิ์ที่เก่าแก่และชำรุดนั้น ทาง”เจ้าหลวงจักคำขจรศักดิ์ “เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แล้วนำเอาทองจังโกฏิ์ที่ชำรุดแต่เดิมไปทำการไล่เอาเนื้อทองคำที่มีอยู่ในแผ่นทองจังโกฏิ์รุ่นดั้งเดิมนี้ออก ได้เนื้อทองคำออกมาจำนวนหนึ่งนำไปขาย จากนั้นนำเงินรายได้จาการขายทองคำนี้ ไปทำการซื้อที่ดินบริเวณมุมถนนอินทยงยศ กับถนนวังขวา ทางด้านทิศเหนือของตลาดพิกุลแก้ว อำเภอเมืองลำพูนปัจจุบัน แล้วทำการสร้างห้องแถวสองชั้นเป็นเรือนไม้ขึ้นมาให้ชาวบ้านร้านค้าเช่าอาศัยให้ เป็นรายได้ขึ้นมา และทำการมอบถวายให้แก่วัดพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย เพื่อนำเงินค่าเช่านั้นๆเป็นค่าจตุปัจจัยในการใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟบำรุงและวัดพระบรมธาตุต่อไป ภายหลังได้รื้อเรือนไม้สองชั้นนั้นออกแล้วสร้างเป็นตึกแถวดังที่เห็นกัน ตราบจนถึงทุกวันนี้

เมื่อองค์ครูบาเจ้าศรีวิไชยได้อาพาธและเสียชีวิตลง ทางจังหวัดลำพูนจึงได้นำ”ทองจังโกฏิ์”ที่เหลือจากการไล่เอาเนื้อทองคำออก ไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างเหรียญครูบาที่มีลักษณะเป็นรูปไข่ เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ที่มาร่วมทำบุญในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยได้ทำเหรียญออกมาเป็นสองพิมพ์ คือพิมพ์ชายจีวรที่พาดอยู่ตรงแขนซ้ายเป็นแบบสองชาย และพิมพ์สามชาย นอกจากนี้ยังได้ทำเหรียญเนื้อเงินขึ้นมาอีกต่างหากอีกเนื้อหนึ่งด้วย เท่าที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ส่วนใหญ่ของเนื้อเหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยที่เป็นเนื้อทองจังโกฏิ์นั้น จะมีความแตกต่างกันของสีสันและเนื้อเหรียญอย่างเห็นได้ชัด บางเหรียญนั้นจะเป็นเนื้อที่มีทองคำผสมอยู่จะมีความวาววามอย่างน่าดูและน่าสนใจยิ่ง บางเหรียญจะเป็นดั่งเนื้อนากและเหมือนกับเนื้อทองคำผสมก็มี ซึ่งก็เป็นเพราะทองจังโกฏิ์ที่ใช้หุ้มองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยนั้นเป็นแหล่งรวมของเนื้อโลหะหลายชนิดนั่นเอง ไม่ได้เป็นเหรียญที่ทำจากฝาบาตรตามที่ว่ากันไว้แต่อย่างใด สำหรับเหรียญเงินนั้นไม่มีปัญหาอะไรเพราะสร้างขึ้นจากเนื้อเงินต่างหากจากเนื้อทองจังโกฏ์ดังกล่าว
เหรียญครูบาปีพ.ศ. 2482 นี้แกะพิมพ์และปั้มเหรียญที่ ร้านอัมราภรณ์ ตึกดิน กรุงเทพฯ เข้าทำพิธีพุทธาภิเษกโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2481. จากนั้นจึงได้ส่งกลับมายังเมืองลำพูนเพื่อดำเนินการในงานบุญครั้งใหญ่ต่อไป มีเหรียญครูบาที่สำคัญอีกสองแบบที่จะนำมากล่าวในที่นี้ก็คือ

1. “เหรียญพิมพ์บัวสิบเอ็ดดอก “หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เหรียญสร้าง”สะพาน ศรีวิไชย “ เป็นสะพานที่เชื่อมต่อจากตำบลบ้านสันริมปิง อำเภอเมืองลำพูน ข้ามแม่น้ำปิงไปยังหมู่บ้านหนองตอง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบให้แก่สาธุชนผู้ที่ร่วมทำบุญสมทบทุนในการสร้างสะพานในครั้งนี้ เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากเหรียญรูปไข่ปี พ.ศ. 2482
2 . “เหรียญพญานาค” ที่มีองค์ครูบาเจ้าศรีวิไชยประทับนั่งปางขัดสมาธิราบ บนฐานประทับเป็นตั่งขาสิงห์กลางเหรียญ ประดับลวดลาย เป็นพญานาคสองตัว ชูหัวขึ้นออกทางด้านข้างสองข้างโดยส่วนตัวและหาง ทำเป็นซุ้มประดับ ขึ้นไปด้านบน เหรียญรุ่นนี้สร้างโดยวัดเจดีย์หลวง ถนนพระปกเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

วัตถุมงคลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ พระรูปเหมือนของครูบาเจ้าศรีวิไชยเนื้อดินผสมเถ้าอัฐิของท่าน ที่ครูบาทึม พระลูกวัดจามเทวี ผู้มีฝีมือในการปั้นพระเนื้อดินต่างๆ ท่านได้รวบรวมเก็บเถ้าอัฐิในบริเวณสถานที่ที่ทำการฌาปนกิจศพของท่านครูบาเอาไว้ และต่อมาได้ทำการสร้างพระรูปหมือนครูบาเนื้อดินเผาผสมเถ้าอัฐิครูบาเจ้าศรีวิไชย เรียกว่า”ครูบาหลังย่น” ออกมาแจกจ่ายผู้ที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่ว ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ จนเป็นที่ต้องการและเสาะแสวงหากันมาจนทุกวันนี้ ในบริเวณที่ดินที่ใช้เป็นที่ฌาปนกิจศพของท่านครูบา ในบริเวณของวัดจามเทวีนั้น ต่อมา ทางคณะกรรมจังหวัดและทางวัดจามเทวีลำพูนได้สร้างเป็นสถูป “อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิไชย” บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้เพื่อให้บรรดาสาธุชนได้กราบไหว้สักการะบูชาตราบจนถึงทุกวันนี้ .
ต่อจากนี้ไปจะให้ท่านได้ชม เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยที่หายาก เป็นเหรียญดังอันมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของนักสะสมในปัจจุบัน

ภาพที่ 1 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญกรรมการเนื้อทองคำลงยา ปีพ.ศ. 2482 เหรียญยอดนิยมแห่งยุคที่งามสมบูรณ์เรียบร้อย งดงามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีช้ำหรือเสียหายหรือสึกหรอในส่วนใด และเชื่อได้ว่าไม่มีเหรียญอื่นใดมาเปรียบหรือเทียบเท่าเหรียญนี้ได้เลย เป็นเหรียญเก่าเก็บที่อยู่ในสภาพเดิมๆ เหรียญนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม เป็นที่หวงแหนของผู้ที่เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ต่อมาผู้เขียนจึงได้มาเป็นมรดกตกทอด และเป็นเจ้าของเหรียญนี้อย่างเต็มภาคภูมิ และเชื่อมั่นอย่างแท้จริงได้ว่าเป็นเหรียญครูบา เหรียญกรรมการที่เป็นเนื้อทองคำทั้งองค์ เพียงเหรียญเดียวองค์เดียวเท่านั้น ที่มีอยู่ให้ได้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่สุดในปัจจุบัน ให้ท่านลองพิจารณาดูอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน ว่าเป็นอย่างไร

ภาพที่ 2 เหรียญครูบา เหรียญกรรมการเนื้อเงินหน้าทองคำลงยา ปีพ.ศ. 2582 เหรียญกรรมการเหรียญนี้เป็นอีกบล๊อกหนึ่งที่แตกต่างจากเหรียญในภาพที่ 1 คือเป็นเหรียญหน้าแก่ และไม่มีการฉลุลาย รอบๆองค์ครูบา 4 จุด เหมือนกับเหรียญในภาพที่ 1 จะเห็นเป็นลายทึบสีแดงตรงขอบเหรียญโดยรอบไปทั้งหมด ซึ่งก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ให้ท่านสังเกตและเปรียบเทียบดู เหรียญกรรมการเหรียญนี้มีห่วงทองแดงเล็กๆห้อยกับตัวเหรียญอยู่เป็นห่วงเดิมๆที่ติดมากับเหรียญ ตัวหนังสือและลวดลายประดับต่างๆที่มีอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้นเหมือนกันทุกอย่างไม่ผิดกันเลย

ภาพที่ 3 เหรียญ ครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญกรรมการ เนื้อเงินหน้าทองคำลงยา พิมพ์หน้าหนุ่ม มีลายฉลุ เหรียญนี้ก็เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่หาพบได้ยาก ไม่มีปรากฎในที่แห่งใดให้ได้เห็นกันเลย มีเกล็ดเล็กน้อยที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์มั่น ภูริตธัตโต ท่านอาจาย์ใหญ่สายวิปัสนากัมมัฏฐานของทางภาคอีสาน ที่ท่านได้เคยพบปะกับครูบาเจ้าศรีวิไชย ในการพบปะครั้งนั้น ท่านได้เอ่ยปากชวนพระครูบาออกมาปฏิบัติกัมมัฏฐานด้วยกัน แต่ท่านครูบาเจ้าศรีวิไชยปฏิเสธโดยกล่าวว่า “ตัวท่านได้บำเพ็ญบารมีมาทางพระโพธิสัตว์ และได้รับการพยากรณ์มาเช่นนั้น จึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้” ในเวลาท่านอาจารย์มั่นท่านได้พำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ร่วมสมัยกับพระเดชพระคุณ พระอุบาลี(จันทร์) ระหว่างปีพ.ศ. 2472ถึง 2478 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พระครูบาศรีวิไชยขึ้นมาพำนักอยู่ ณ วัดสวนดอกเมืองเชียงใหม่ เพื่อฟื้นฟูบูรณะวัดวาอารามต่างๆในเมืองเชียงใหม่ที่ชำรุดเสียหาย รวมทั้งการสร้างถนนขึ้นบนดอยสุเทพด้วย.

ภาพที่ 4 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการ เนื้อเงินหน้าเงิน พิมพ์หน้าหนุ่ม มีลายฉลุ เป็นเหรียญที่มีความเรียบร้อยและสมบูรณ์ไม่ถูกห้อยใช้และยังคงสภาพเดิมๆไว้อย่างดีเยี่ยมน่าสนใจยิ่ง ด้านหลังของเหรียญแจกกรรมการนี้ มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์อยู่ตอนบน ถัดลงมามีคาถาอำนวยพรสี่แถว แถวบนสุดอ่านได้ใจความดังนี้”สพฺ พุทฺ ธา ทฺยา นุ ภา เว น “ แถวที่สอง “สพฺ พ สนฺ ตา วชฺ ชิ โต “ แถวที่สาม “ สพฺ พ ส มตฺ ถ สมฺ ปนฺ โน “ แถวที่สี่ “ สี ติ ภู โต สทา ภ ว “ แปลความได้ดังนี้ “ด้วยอานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงห่างไกลจากสรรพความเดือดร้อน ให้ก้าวล่วงพ้นเวรทั้งปวง เป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นในกาลทุกเมื่อ. ยันต์และคาถาทั้งหมดนี้มีปรากฎในเหรียญครูบารุ่นแจกกรรมการและเหรียญรูปไข่ของปีพ.ศ. 2482 ทุกเหรียญ ถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์ที่สำคัญของเหรียญรุ่นนี้ เหรียญครูบาเจ้าเหรียญกรรมการนี้ปัจจุบันหาพบได้ยาก ให้จดจำรูปลักษณ์พิมพ์ทรงให้ดี หากท่านมีโอกาสได้พบเห็น ก็อย่าได้พลาดก็แล้วกัน.

ภาพที่ 5 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการ เนื้อเงินลงยา หน้าเงินพิมพ์หน้าหนุ่มมีลายฉลุ จุดสังเกตของเหรียญรุ่นนี้คือความเก่าของอายุที่มีความแห้งของการลงยาและความเก่าของเนื้อเงิน ลักษณะของห่วงห้อยนั้นเป็นลักษณะของรูปหยดน้ำในแนวตั้ง พื้นเหรียญนั้นเป็นสีขาว รอบๆเป็นลวดลายโปร่งรองพื้นด้วยสีแดง สำหรับพิมพ์หน้าหนุ่มนี้จะฉลุตรงเหลี่ยมมุมของลวดลายสี่มุม ทำให้มองเห็นพื้นขาวที่รองรับด้านล่างชัดเจน ด้านหลังมีลวดลายเป็นเส้นรัศมีในแนวตั้งเป็นขีดเล็กๆโดยรอบ เหรียญนี้อยู่ในสภาพเดิมๆเพราะเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม ให้ท่านจดจำรูปแบบและเนื้อหาไว้ให้แม่นจะได้ไม่พลาดในการเสาะแสวงหากัน.

ภาพที่ 6 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการ เนื้อเงินลงยาพิมพ์หน้าเงินมีลายฉลุ เป็นพิมพ์หน้าหนุ่ม เหรียญครูบาเหรียญนี้เป็นเหรียญที่ถูกเก็บรักษาไว้ดีพอสมควร จึงมีความงามความเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สำหรับเหรียญครูบารุ่นแจกกรรมการทำขึ้นมาไม่มากนัก เพียงพอสำหรับการแจกให้กรรมการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพิธีการพระราชทานเพลิงศพของครูบาเจ้าศรีวิไชย ณ วัดจามเทวี ลำพูนเท่านั้น จึงไม่ค่อยมีปรากฎพบเห็นในที่แห่งใด เป็นเหรียญหนึ่งที่ทรงคุณค่าสูงที่น่าเก็บสะสมไว้เป็นอย่างยิ่ง.

ภาพที่ 7 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการ เหรียญเนื้อเงินลงยา พิมพ์หน้าแก่ไม่มีลายฉลุ เหรียญครูบาเจ้ารุ่นนี้มีความแตกต่างกับพิมพ์หน้าหนุ่มที่มีลายฉลุตรงรูปหน้าและตรงรอยฉลุสี่มุมของเหรียญเท่านั้น อย่างอื่นเป็นเหมือนเช่นกันทั้งสองพิมพ์ ซึ่งก็เป็นความแตกต่างเล็กๆน้อยๆที่ได้นำมาให้ท่านได้รับรู้กัน สำหรับพิธีกรรมในการพิธีพุทธาภิเษกนั้นทำในพิธีเดียวกัน พร้อมๆกันที่วัดราชบพิตร เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พร้อมๆกับเหรียญของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ พระผู้ทรงมีพระเมตตาต่อครูบาเจ้าศรีวิไชยขณะต้องอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯเมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนกลางใน ในเวลาขณะนั้น.

ภาพที่ 8 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการ เหรียญเนื้อเงินลงยาพิมพ์หน้าแก่ไม่มีลายฉลุ เป็นเหรียญครูบาอีกเหรียญหนึ่งที่มีความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย เพราะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม เหรียญครูบารุ่นนี้และเหรียญรูปไข่พิมพ์สองชายและสามชายปี พ.ศ. 2482 นั้น ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกสุด ของการสร้างเหรียญของท่านขึ้นมา เพราะก่อนหน้านั้น ไม่มีการสร้างรูปเคารพของครูบาเจ้าศรีวิไชยไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด จะมีก็แต่บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่าน ได้ขอเก็บเส้นเกศาของท่านหลังจากท่านได้ทำการปลงผมในแต่ละครั้ง แล้วได้ทำการสร้างเป็นพระพิมพ์ต่างๆ เช่นพิมพ์พระรอด พิมพ์พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พิมพ์พระคง พิมพ์พระเปิม พิมพ์พระลือหน้ายักษ์เป็นต้น สร้างขึ้นจากเนื้อผงของการเผาใบลานที่เป็นคัมภีร์โบราณเก่าแก่ทีชำรุดเสียหายคลุกรักสีดำ พร้อมกับบรรจุเส้นเกศาของท่านลงไป เรียกกันว่า “พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย”เท่านั้น ภายหลังก็เกิดนิยมกันเพราะถือเป็นของล้ำค่า ที่มีความเป็นศิริมงคลอันสูงเด่น ที่หาไม่ได้อีกแล้ว


ภาพที่ 9 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญแจกกรรมการเหรียญเนื้อเงินลงยาพิมพ์หน้าแก่ไม่มีลายฉลุ เหรียญครูบาเหรียญนี้ถูกห้อยใช้มาพอสมควร จึงมีรอยกระดำกระด่างบนหน้าและลำตัวอย่างเห็นได้ชัด ด้านหลังก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังคงความงามและสมบูรณ์เรียบร้อยทุกประการ เส้นสายรายละเอียดต่างๆยังคมชัดไม่สึกหรอหรือเสียหาย พอที่จะนำไปเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้และจดจำเอาไว้ได้เป็นอย่างดี สำหรับเหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยที่เป็นเหรียญลงยา ที่แจกให้บรรดากรรมการที่เข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพก็มีดังที่ได้ชมกันนี้พอสังเขป ยังมีเรื่องราวของเหรียญของครูบาเจ้าศรีวิไชย ที่ให้บรรดาศรัทธาญาติโยมได้เช่าบูชาร่วมทำบุญในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ที่เป็นเหรียญลักษณะรูปไข่ทั้งพิมพ์จีวรสามชายและสองชาย ที่สร้างขึ้นด้วยทองจังโกฏิ์ ทองที่หุ้มองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยมาเก่าก่อน นับแต่โบราณกาลนานมาแล้ว เป็นเหรียญของปี พ.ศ. 2482 ที่ควรค่าแก่การเก็บสะสม และหาพบยากยิ่งในปัจจุบัน ซึงมีของปลอมและเหรียญทำออกมาขึ้นใหม่ ที่มีความแตกต่างจากเหรียญรุ่นแรกโดยสิ้นเชิง ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรง นำมาให้ท่านได้ชมและศึกษากันต่อไปดังนี้

ภาพที่ 10 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เหรียญรูปไข่พิมพ์สามชาย สระ”อู”ปลายแหลมตรงคำว่า”ครู” เป็นโลหะที่เรียกกันว่า” เนื้อทองจังโกฏิ์” ที่ทำขึ้นจากทองหุ้มองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย หูเชื่อมด้วยตะกั่ว เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ประชาชนที่เคารพเลื่อมใสในตัวท่านเมื่อครั้งทำพิธีพระราชทานเพลิงศพท่าน ณ บริเวณวัดจามเทวี อำเภอเมืองจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปีพ.ศ. 2489 ลักษณะรูปทรงของเหรียญนั้นเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นแอ่งลึกลงไปเล็กน้อย มีรูปครูบาครึ่งตัว ทำมือประสานกันใต้ท้องน้อย มือขวาทับมือซ้าย ในมือถือสร้อยลูกประคำ ห่มจีวรแบบห่มดอง แขนซ้ายมีชายจีวรคล้องอยู่สามจีบอันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์จีวรสามชายที่ใช้กำหนดเรียกกัน ให้ท่านสังเกตดูตรงจุดนี้.

ภาพที่ 11 เหรียญ ครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์สามชาย สระ”อู” ปลายแหลม ปี พ.ศ. 2482 เนื้อโลหะทองจังโกฏิ์ที่เรียกกันว่าเนื้อแก่ทองเพราะมีความวาววามของนื้อทองคำผสมอยู่ในเนื้อทองจังโกฏิ์นี้ด้วย จะสังเกตเห็นว่าแต่ละองค์ของเหรียญครูบารุ่นแรกนี้จะมีสีสันของเนื้อโลหะที่แตกต่างกันในทุกๆองค์ ให้ท่านตั้งเป็นข้อพิจารณาดูเปรียบเทียบเอาไว้ ก็จะเห็นว่าเป็นความจริงดังกล่าว สำหรับเหรียญนี้นั้นมีความงดงามและสมบูรณ์เอามากๆ พื้นผิวเป็นสีแดงของของชาดแดงที่ทาบนพื้นผิวของบล๊อกแม่พิมพ์ ก่อนทำการปั้มพิมพ์ติดอยู่ด้วย

ภาพที่ 12 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์สามชาย สระอู ปลายแหลม เนื้อโลหะผสมทองจังโกฏิ์ที่เป็นเนื้อแก่ทองคำอันวาววาม ของปี พ.ศ. 2482 อันแท้จริงอีกองค์หนึ่งที่นำมาแสดงให้ท่านได้ชมอย่างเต็มตาในครั้งนี้ เป็นเหรียญที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร ทำให้เห็นรอยต่างบนผิวเหรียญอันไม่สม่ำเสมอ ดูชมแล้วเกิดความรู้สึกว่า ขลังดีเป็นที่ยิ่ง เหรียญแท้นั้นมักจะมีเสน่ห์เก๋ย์ดีอยู่ตรงจุดนี้ ให้ท่านลองพิจารณาดู ก็จะรู้เห็นว่าเป็นจริงโดยแท้.

ภาพที่ 13 เหรียญครูบาเจ้า ศรีวิไชย พิมพ์สามชาย พิมพ์สระอูปลายแหลม เนื้อโลหะผสมทองจังโกฏิ์ ที่เป็นเนื้อแก่ทองคำอันสวยงามยิ่ง เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่มีความงดงามเต็มร้อย มีความเข้มขลังเต็มไปด้วยพลังแห่งนาบุญอย่างเพียบพร้อมในองค์เหรียญ ด้านหน้าและด้านหลังติดพิมพ์อย่างงดงาม ยากจะหาเหรียญอื่นใดมาเทียมเท่าได้ ให้ท่านลองพิจารณาดูให้ดีก็จะมีความรู้สึกเช่นว่านี้อย่างแท้จริง.

ภาพที่ 14 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์สามชาย สระอู ปลายแหลม เหรียญครูบาเจ้าเหรียญนี้จะมีสีสันที่แตกต่าง จากเหรียญ ที่ 10- 11- 12- 13 เพราะเหตุที่ว่าในเนื้อทองจังโกฏิ์ทองหุ้มองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยซึ่งนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างเหรียญนั้น มีเนื้อโลหะหลายชนิด จึงมีสีสันและเนื้อเหรียญที่แตกต่างกัน ให้ท่านคอยสังเกตและพิจารณาตามก็จะเห็นเป็นจริงดังกล่าว เรื่องของพลังแห่งความขลังและศักดิ์สิทธิ์นั้นจำเป็นที่จะต้องกล่าวไว้ เป็นเพราะทองจังโกฏิ์ที่หุ้มองค์พระบรมธาตุนั้นมีอายุการหุ้มที่ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ผู้คนต่างๆหลายแห่งหลายที่ รวมทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินตลอดจนพระเถรานุเถระที่เคร่งครัดต่อศิลสัตย์ ต่างก็พากันมา กราบไหว้อธิฐานจิตต่อองค์พระบรมธาตุที่หุ้มด้วยทองจังโกฏิ์ดังกล่าว ทำให้มีพลังและความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มมากขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งมีปรากฎและเป็นประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่มีเหรียญครูบารุ่นนี้ให้ได้พบเห็นเป็นอัศจรรย์.

ภาพที่ 15 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์สามชายเนื้อทองจังโกฏิ์ พิมพ์สามชายสระอู ปลายแหลมเนื้อแก่ทองคำอีกองค์หนึ่งที่คมชัด งดงามเป็นที่ยิ่ง อยู่ในลักษณะเดิมๆไม่ได้ใช้ มีสภาพเต็มร้อย เป็นเหรียญที่เจ้าของเขาเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและมีความหวงแหนเป็นที่ยิ่ง ต่อมาตกมาเป็นของผู้เขียนจึงได้นำเหรียญอันงดงามและอยู่ในสภาพเต็มร้อยมาให้ท่านได้ชื่นชมกัน ให้ท่านพิจารณาดูว่าเนื้อเหรียญอันแท้จริงนั้น ต้องมีสภาพดังที่ได้เห็นอยู่นี้ทุกประการ โดยเฉพาะเหรียญที่เป็นของแท้ต้องเป็นแอ่งทางด้านหน้าและด้านหลังราบเรียบไม่บวมออกมาและมีขอบข้างเป็นวงรอบ ต่างจากเหรียญที่ทำเทียมขึ้นมา ที่เรียกกันว่า”เหรียญบล๊อกคอมพิวเตอร์”หรือบล๊อกฮ่องกง”ที่เขาเรียกกัน.
เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเหรียญที่นิยมรองลงมาจากเหรียญแจกกรรมการและเหรียญรูปไข่เนื้อทองจังโกฏิ์คือเหรียญรูปทรงแบบอาร์มที่เรียกกันว่า “เหรียญครูบาพิมพ์บัวสิบเอ็ดดอก” บัวสิบเอ็ดดอกนี้นับตรงส่วนฐานประทับ ซึ่งเป็นรูปของครูบาเจ้าศรีวิไชยนั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิราบ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางทับลงบนมือซ้าย ด้านข้างเป็นเส้นซุ้มรัศมีรูประฆังที่ตรงส่วนปลายเหนือศรีษะเป็นปลายแหลมล้อมรอบ ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปดอกบัวชูก้านขึ้นข้างละสามดอกงดงามดูมีมิติ และน่าเลื่อมใสยิ่ง เหรียญครูบาพิมพ์บัวสิบเอ็ดดอกนี้สร้างขึ้นโดยดำริของทางราชการในยุคสมัยของท่านจอมพล ป .พิบูลสงคราม ประมาณปี พ.ศ .2480 เพื่อสมทบทุนในการสร้างสะพานข้ามลำน้ำแม่ปิง เชื่อมติดต่อระหว่างอำเภอเมือลำพูน ที่ตำบลบ้านสันริมปิง และตำบลหนองตอง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ จนแล้วเสร็จในที่สุดและสะพานนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า”สะพานศรีวิไชย”เพื่อเป็นเกียรติแก่”ท่านครูบาเจ้าศรีวิไชยนักบุญแห่งล้านนา”นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน.

ภาพที่ 16 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย เนื้อทองแดงพิมพ์บัวสิบเอ็ดดอก ทรงรูปอาร์ม เป็นเหรียญที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร แต่ความคมชัดยังมีปรากฎให้เห็น งามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พุทธคุณนั้นดีทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจากภัยอันตรายได้ชะงัดนัก เป็นเหรียญที่หาพบยากในปัจจุบันนี้เหรียญหนึ่ง

ภาพที่ 17 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์บัวสิบเอ็ดดอกรุ่นสร้างสะพานศรีวิไชย เหรียญนี้เป็นเหรียญเนื้อตะกั่วที่เรียกกันว่าเป็นเหรียญรองพิมพ์ เป็นเหรียญที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด เพราะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ความคมชัดนั้นเต็มร้อย งามพร้อมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เหรียญเนื้อตะกั่วนี้ไม่ค่อยจะพบเห็นกันในที่ทั่วไป เป็นเหรียญที่หาพบได้ยากยิ่งและไม่มีการทำปลอมหรือเลียนแบบใดๆ จึงมีความเชื่อมั่นได้อย่างเต็มที่.

ภาพที่ 18 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยเนื้อทองแดง พิมพ์บัวสิบเอ็ดดอกรุ่นสร้างสะพานศรีวิไชย เหรียญนี้มีความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย ความคมชัดนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลย งามและสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ด้วยความเมตตาและปฏิบัติในศีลาจารุวัตรของครูบาเจ้าศรีวิไชย จึงทำให้เหรียญที่มีรูปลักษณ์ของท่านได้รับความรักและความเคารพเป็นที่นิยมของผู้คนต่างๆทั่วไป ปัจจุบันจะหาพบเหรียญที่มีความงดงามและสมบูรณ์เช่นนี้เป็นเรื่องยากแสนยากไปแล้ว และมีของปลอมออกมาให้ได้เห็นกันอีกด้วย จึงต้องระมัดระวังในการเช่าให้จงดี

ภาพที่ 19 เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์บัวสิบเอ็ดดอกเนื้อทองแดง รุ่นสร้างสะพานศรีวิไชย เหรียญนี้เป็นเหรียญที่ผ่านมือกันมาบ้าง แต่ความงดงามและสมบูรณ์นั้นก็ไม่ด้อยลงไปเลย ความขลังและมีพลังยังมีเต็มเปี่ยมในเหรียญที่เป็นรูปลักษณ์ของท่านอย่างเต็มที่ ด้วยบารมีอันสูงส่งของท่านครูบา ก่อนที่ท่านจะเช่าหาให้ท่านจดจำรูปทรงและเนื้อหาของเหรียญให้จงดี จะได้ไม่ผิดพลาด เพราะเวลานี้มีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีทำปลอมกันขึ้นมาแล้ว

ภาพที่ 20 แถมท้ายด้วยเหรียญรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงรูปหยดน้ำแบบเดียวกันกับเหรียญเนื้อทองคำและเนื้อเงินลงยาสำหรับแจกกรรมการ แต่เป็นเหรียญเนื้อทองแดงทั้งองค์ที่มีความงดงามและคมชัดลึก งามสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แถมมีห่วงทองแดงเดิมๆห้อยติดอยู่ด้วย เท่าที่พบมีเพียงเหรียญเดี่ยว เหรียญเดียวที่ได้พบเห็นจริงๆ ไม่มีเหรียญที่สองให้ได้เจอะเจอกันอีกเลย จึงนำมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการบันทึกอันสำคัญไว้ให้ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์ต่อไป

ท่านได้ชม เหรียญครูบาเจ้าศรีวิไชยที่เป็นพิมพ์นิยมกันทั้ง 20 เหรียญ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เขียนเป็นเจ้าของ ไม่ได้หยิบยืมของใครผู้ใด หากท่านมีความสนใจ หรือสงสัยอยากใคร่รู้ใคร่เห็นองค์จริงก็เชิญได้ที่ “หอศิลปะพระเครื่องเมืองลำพูน” ถนน มุกดา ใกล้ๆกับพิพิธภัณท์สถานจังหวัดลำพูน หรือ โทรถามได้ที่ โทร . 086 - 9184300 และเบอร์ 053 - 530148 ครับ.