ต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของ พระบาง ผู้เขียนได้ทำแผนผังชี้จุดต่างๆของพระบางลำพูนให้ท่านได้ดู เพื่อประกอบการพิจาณากับพระบางที่นำเสนอ ท่านจะได้เข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น พระบางมีอยู่หลายพิมพ์และหลายกรุ แต่ภาพโดยรวมก็คล้ายและใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าความคมชัด ความงดงามและสมบูรณ์นั้นจะมากน้อยกว่ากันแค่ไหน ซุ้มรัศมีโดยรอบเศียรของพระบางมีสองแบบคือ พระบางที่มีซุ้มรัศมีเหมือนกับของพระคงคือเสมอกันทั้งสองข้าง อีกแบบหนึ่ง ซุ้มรัศมีข้างขวาของเศียรดีดออกคือถ่างออก ให้สังเกตุดู พระบางได้ชื่อว่าเป้นพระกรุที่อยู่คู่กับพระคง แต่มีลักษณะต่างกับพระคงตรงที่รูปลักษณ์ขององค์พระที่ดูชลูด เอวบางร่างน้อย การวางแขนซ้ายวางทำมุม 45 องศาแขนไม่หักศอกเหมือนกับแขนของพระคง พระบางได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีเสน่ห์ พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปลอดภัย เป็นพระ เจ้าเสน่ห์ที่มีคนนิยมชมชอบ สำหรับพระกรุทุกชนิด เนื้อขององค์พระจะต้องมาก่อนสิ่งอื่น เพราะพระกรุมีอายุอันเก่าแก่นับพันปี ย่อมจะมีเนื้อพระที่เก่าแก่กว่าพระที่สร้างขึ้นมาใหม่ รวมทั้งคราบกรุ ขี้กรุที่ติดอยู่กับองค์พระ เป้นข้อสังเกตุอันดับแรก ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าองค์พระนั้นแท้หรือไม่ จากนั้นก็ค่อยพิจารณาจุดลับ พิมพ์ทรงและตำหนิต่างๆต่อไป พระบางที่นำมาเป็นแม่แบบชี้จุดสังเกตุต่างๆนี้เป็นพระบางของวัดดอนแก้วอำเภอเมืองลำพูน เป็นพระบางที่มีซุ้มรัศมีข้างขวาของเศียรถ่าง ออกไม่ได้เสมอกันทั้งสองข้างเหมือนกับซุ้มรัศมีของพระคง เรียกกันว่าพระบางซุ้มดีด สำหรับพระบางพิมพ์ซุ้มเสมอกันสองข้างก็มีจุดสังเกตุต่างๆไม่แตกต่างกันมากนัก ต่อไปผู้เขียนจะนำมาให้ท่านได้ดูและศึกษากัน

ภาพ ก. วิธีดูจุดลับ

ต่อจากนี้ไปจะเป็นภาพของพระบางที่มีชื่ออันอันลือลั่นเป็น พระเจ้าเสน่ห์ของเมืองลำพูนที่มีคนต้องการเป็นเจ้าของอย่างมาก สำหรับการบูชาติดตัว เป็นพระที่ดีทางเมตตามหานิยม ผู้คนรักใคร่นิยมนับถือกันอย่างกว้างขวาง เป็นพระกรุในสายที่เย็นระรื่น ไม่ดุดันเหมือนพระสกุลอื่น พระบางที่ขุดพบในเมืองลำพูนนั้นมีหลายพิมพ์และหลายขนาด ซึ่งพอที่จะประมวลได้ว่า ขุดพบที่วัดพระคงฤาษี วัดดอนแก้ว วัดประตูลี้ บริเวณวัดกู่เหล็กและล่าสุดพบที่บริเวณศูนย์เพาะชำกล้าไม้ของเทศบาลเมืองลำพูนทางทิศใต้ของวัดประตูลี้ ที่เรียกขานกันว่าพระกรุเทศบาล

ภาพที่ 1 เป็นพระบางของกรุวัดดอนแก้ว พระบางองค์นี้เป็นพระบางสีแดงอมชมพู คราบกรุติดอยู่บางๆทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สังเกตุซุมรัศมีรอบเศียรทางขวาขององค์พระจะถ่างออก แตกต่างจากซุ้มทางด้านซ้าย พระบางพิมพ์นี้เรียกกันว่าพระบางซุ้มดีด รูปลักษณ์ของพระบางจะดูโปร่งเอวคอดกิ่ว แบบบางต่างจากพระคง เม็ดบัวแก้วใต้ฐานที่ประทับจะเรียงติดกันชัดเจน ใบโพธิ์ประดับจะดูโปร่งไม่ถี่เหมือนกับใบโพธิ์ของพระคงแต่จำนวนใบโพธิ์นับได้ทั้งหมด 20 ใบ พระบางองค์นี้มีขนาดกว้าง 2ซ.ม สูง 3 ซ.ม หนา 1ซ.มขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 2 พระบางสีพิกุลออกเหลืองที่มีราดำติดองค์พระ เป็นพระบางของวัดพระคงที่มีด้านหลังนูนหนา องค์พระดูจะล่ำกว่าพระบางกรุดอนแก้ว ใบโพธิ์และกิ่งก้านดูหนากว่า เส้นสายรายละเอียดและจุดสังเกตุมีให้เห็นบครบถ้วน เนื้อพระแกร่งจับต้องดูมีน้ำหนักเหมาะมือ ขนาดกว้าง 2ซ.ม หนา1 1 1/4 ซ.ม สูง 3 ซ.ม ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 3 พระบางสีดำสนิท เป็นพระบางสีที่หายากและมีผู้ที่ต้องการแบบเดียวกับพระคงดำ พระบางดำองค์นี้มีคราบกรุติดอยู่ทำให้เน้นลวดลายต่างๆบนผนังโพธิ์ขององค์ให้เห็นชัดเจนและโดดเด่น ตำหนิ พิมพ์ทรงจุดสังเกตุมีทุกจุดและเป็นพระบางแบบซุ้มดีดที่งามสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ด้านหลังงามเรียบร้อยไม่นูนหนามาก ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระบางสีขาวนวล เป็นพระบางเนื้อแกร่งหลังนูนหนาของวัดพระคง พระบางสีขาวนั้นเป็นพระบางสีหนึ่งที่หายาก องค์ที่งามสมบูรณ์พร้อมไม่ค่อยมีปรากฎให้เห็นบ่อยนัก พระบางสีขาวองค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระแม่แบบได้องค์หนึ่งสำหรับการพิจารณา เพราะความแกร่งของเนื้อจึงทำให้องค์พระมีขนาดย่อมลงมานิดๆแต่ก็ดูเหมาะเจาะสำหรับการเข้าตลับทองยิ่ง มีขนาดกว้าง 1 1/2ซ.ม หนา 1 ซ.ม สูง 2 3/4ซ.ม ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน


ภาพที่ 5 พระบางสีพิกุลอมชมพูของวัดดอนแก้วที่งามสมบูรณ์ คราบกรุติดอยู่บางๆทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีหน้าตาปรากฎให้เห็น องค์พระไม่บิ่นหรือแตกหักตรงส่วนใด เห็นสะดือเป็นเม็ดเล็กๆจุ่นนูนตรงส่วนท้องที่กิ่วคอด ฝ่ามือขวาที่วางบนเข่าขวามองเห็นนิ้วมือที่แตะกับพื้นบัลลังก์ที่ประทับชัดเจนดี ด้านหลังงามเรียบร้อยสมกับความเป็นพระบางอย่างแท้ พระบางองค์นี้ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูนขนาดกว้าง 2ซ.มสูง 3 ซ.ม หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 6 เป็นพระบางสีเขียวหินครกที่มีเนื้อแกร่งและถิอกันว่าเป็นพระกรุที่มีสีสันของเนื้อพระอันเป็นที่นิยมและต้องการของผู้ที่สะสมพระกรุเป็นอย่างมาก พระบางเขียวที่งามสมบูรณ์พร้อมนั้นเป็นของหายากสุดๆ ซึ่งหาพบไม่ได้อีกแล้วในยุคปัจจุบัน พระบางพิมพ์นี้เรียกกันว่า พระบางแบบโพธิ์เม็ด สังเกตุดูใบโพธิ์แต่ละใบจะเป็นเหมือนติ่งนูนเด่นให้เห็นเป็นเม็ดๆ สำหรับกิ่ง ก้าน ใบและจุดสังเกตุต่างๆมีให้เห็นครบทุกจุดในองค์พระเรียกว่างามพร้อมทุกประการ ขุดพบในบริเวณกู่เหล็กทุ่งกู่ล้านอันเป็นกรุพระลือโขงและพระลือหน้ามงคลอันมีชื่อเสียงของเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 1 1/2ซ.ม สูง 2 1/2ซ.ม หนา1ซ.ม ขนาดเล็กกระทัดรัด

ภาพที่ 7 พระบางสีขาวของกู่เหล็กพิมพ์โพธิ์เม็ดที่งามสมบูรณ์อีกองค์หนึ่ง ด้านหลังบางราบเรียบสมกับชื่อของพระบางลำพูนอย่างไม่ผิดเพี้ยนและปฏิเสธไม่ได้ องค์พระเมื่อเราจับต้องดูมีความกระทัดรัดอย่างน่าแปลกใจในฝีมือของเชิงช่างในสมัยโบราณที่สามารถรังสรรศิลปะกรรมชิ้นเล็กๆเช่นนี้ได้อย่างลงตัวและเหมาะแก่การติดตัวนำไปในที่ต่างๆได้อย่างสดวกดาย พระบางโพธิ์เม็ด องค์นี้มีหน้าตาปรากฎให้เห็นอย่างน่ารักเป็นองค์หนึ่งที่งามพร้อมที่หาไม่ได้อีกแล้วทั้งพิมพ์ทรงและสีสัน ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม สูง 3ซ.ม
หนา 1ซ.ม

ภาพที่ 8 พระบางสีเขียวคราบแดงพิมพ์โพธิ์เม็ดเนื้อแกร่ง เป็นพระบางที่งามมากทั้งเนื้อและพิมพ์ทรงคราบกรุติดอย่างบาง ๆ มีความเก่าของเนื้อพระกรุที่ดูแล้วคือใช่พระกรุแท้แน่นอน พระบางสีนี้หากถูกเหงื่อไคลหรือจับต้องบ่อยครั้งผิวและสีสันขององค์พระยิ่งจะเพิ่มความงดงามและเข้มขลังเกิดขึ้นในทีอย่างลึกลับเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เพิ่มความมั่นใจในพุทธคุณขององค์ได้ชนิดเต็มร้อย นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุอันเก่าแก่ พระบางองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กของทุ่งกู่ล้านอำเภอเมืองลำพูน กว้าง 1 3/4 ซ.ม สูง 3 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 9 พระบางพิมพ์โพธิ์เม็ดสีแดงอมชมพู พระบางองค์นี้มีสีสันที่ไม่แดงจนเกินไปเป็นพระบางเนื้อแกร่งองค์หนึ่ง องค์ประกอบทุกอย่างมีให้เห็นในทุกจุด ลองพิจารณาค่อยๆไล่ไปในแต่ละจุดตั้งแต่เนื้อหาพิมพ์ทรงจุดสังเกตุต่างๆก็จะได้ความว่าเป็นพระกรุแท้แน่นอน ไม่ต้องไปอาศัยสายตาของผู้อื่นใด พระบางองคืนี้มีขนาดกว้าง 1 3/4ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดได้ที่กู่เหล็กทุ่งกู่ล้านอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 10 พระบางสีพิกุลออกสีเหลืองทองที่งามสง่า มีคราบกรุติดบางๆพองามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สีสันของพระบางองค์นี้นวลตายิ่ง ด้านหลังแบนราบเรียบแนบติดกับพื้นที่เราวางไว้ ส่วนใหญ่ด้านหลังของพระกรุกู่เหล็กจะเป็นเช่นนี้ แต่ชนิดหลังนูนขึ้นมาก็มีปรากฎ นั่นเป็นเพราะฝีมือเชิงช่างในแต่ละคน แต่เนื้อหาพิมพ์ทรงและความเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุคจะเป็นตังฟ้องและชี้ชัดว่าเป็นของเก่าแท้จริงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องหาความรู้และความชำนาญกันต่อไป พระบางองค์นี้มีขนาดกว้าง13/4ซ.ม หนา 3/4ซ.ม สูง 3ซ.ม ขุดพบที่กู่เหล็กของทุ่งกู่ล้านอำเภอเมืองลำพูน

มีพระบางอีกขนาดหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าหลายท่านคงจะไม่เคยเห็น เป็นพระบางที่มีขนาดเล็กจิ๋วกว่าพระบางพิมพ์ธรรมดา ผู้เขียนได้ทำแผนผัง ชี้จุดต่างๆให้ท่านได้พิจารณาและศึกษาดู ซึ่งทุกอย่างก็ไม่ได้แตกต่างจากพระบางพิมพ์ธรรมดาทั่วไป และไม่ใช่เป็นพระถอดพิมพ์ เพราะเนื้อหาพิมพ์ทรงเป็นแบบเฉพาะตัวที่มีความเก่าและความเป็นพระกรุโดยแท้ ของดีของเมืองลำพูนยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกนำออกมาแสดงให้เห็น ผู้เขียนจะค่อยนำมาให้ท่านได้ดูและรู้จักเอาไว้เพื่อเป็นการเผยแพร่ จะไม่ได้สูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ภาพ ข. วิธีดูจุดลับ

ต่อจากนี้จะนำพระบางที่มีขนาดเล็กจิ๋วที่มีการขุดพบในบริเวณวัดพระคงฤาษีเมื่อหลายสิบปีก่อนนานมาแล้วมาให้ท่านได้ชมและพิจารณากัน จากเนื้อหาพิมพ์ทรง ความเก่าแก่ของเนื้อพระแท้ ที่ทำเลียนแบบไม่ได้ให้ท่านได้ชมและวิจารณ์อย่างเต็มที่

ภาพที่ 1 พระบางพิมพ์เล็กจิ๋ว เนื้อสีพิกุลออกเขียวหินครกเป็นพระที่มีสีสองสี เผาแกร่งมีคราบกรุติดอยู่ทั่วองค์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังนูนหนาเป็นหลังคลึงงามเรียบร้อยลงตัวเป็นอย่างดี ผิวพระอยู่ในสภาพเดิมๆมีความเก่าฟ้องอยู่ในตัว จุดต่างๆและองค์ประกอบของพระบางจิ๋วพิมพ์นี้ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นพระเก่าเก็บอยู่ในที่ดีรอโอกาสปรากฎโฉมออกมาให้ได้ชื่นชมกัน เป็นพระบางที่หายากสุดๆ ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1ซ.ม สูง 2 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 2 พระบางจิ๋วสีเหลืองทอง มีหน้าตาพร้อม คราบกรุติดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง งดงามไปอีกมิติหนึ่งพระชุดนี้เป็นพระกรุที่อยู่ในขั้นสมบูรณ์แบบเพราะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 3 พระบางจิ๋วสีเขียวหินครกที่มีสีสันของเนื้อที่เข้มขลังที่เรียกกันว่าเนื้อจัด เป็นเนื้อของพระกรุที่หากจับต้องบ่อยๆสีสันจะยิ่งเปล่งประกายแห่งความงาม ขององค์พระให้ดูมีเสน่ห์ดึงดูดสายตาของนักเลงพระทั่วไป เรียกว่าเนื้อจัดสู้แว่นที่ยิ่งส่องดูยิ่งมันในอารมณ์ องค์ประกอบของพระบางจิ๋วองค์นี้งามอย่างบริบูรณ์หาที่ติไม่ได้เลย พระบางองค์นี้ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน กว้าง 1 1/2ซ.ม สูง 2 1/2ซ.ม หนา 1ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระบางจิ๋วเขียวหินครกอีกองค์หนึ่งที่งามพร้อม คราบกรุและขี้กรุอยู่ในสภาพเดิมๆ เป็นคราบกรุที่ติดอยู่กับองค์พระค่อนข้างแน่นหนา ล้างออกยาก คราบกรุนี้ช่วยรักษาสภาพผิวของพระเอาไว้ หากสามารถเอาคราบกรุออกได้ก็จะเห็นเนื้อแท้ขององค์พระได้อย่างจะแจ้ง แต่จริงๆแล้วก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเพราะองค์พระโดยรวมก็มีความงดงามและสมบูรณ์แบบอยู่ในตัว เราให้อยู่ในสภาพนี้จะดีกว่า พระบางจิ๋วนี้ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน กว้าง 1 1/2ซ.ม สูง 2 1/2ซ.ม หนา 3/4ซ.ม.

ภาพที่ 5 เป็นพระบางจิ๋วสีเขียวหินครกอีกองค์หนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นที่หนึ่ง ไม่เป็นสองรองใคร คราบกรุติดอย่างเบาบางทำให้เห็นเนื้อขององค์พระ จะแจ้งโดยแท้ หู ตา ปากจมูกครบถ้วน มีขนาดกว้าง 1 1/4ซ.ม สูง 2 ซ.ม หนา 1ซ.ม ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน ท่านผู้ชมทุกท่าน คงจะได้ชมภาพของพระคงลำพูนและพระบางพิมพ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ชี้จุดต่างๆตามแผนภูมิที่แสดงไว้อย่างไม่ปิดบังเอาไว้ และให้คำอธิบายพร้อม ท่านที่สนใจและไม่เคยเรียนรู้มาก่อน คงพอจะเข้าใจถึงวิธีการดูพระแท้ที่เป็นพระกรุเก่าแก่โบราณว่ามีความเป็นไปเช่นไร ยังมีของดีในพระกรุต่างอีกมากมายที่รอการเผยแพร่ ให้ท่านคอยติดตามในเว็บ “นายโบราณ”นี้จะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ผู้เขียนจะได้นำเอาพระกรุต่างๆที่เป็นพระแท้ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย มา นำเสนอให้ท่านได้รู้ได้เห็นเพื่อเป็นการเรียนรู้และศึกษาหาข้อมูลอันถูกต้องที่หาไม่ได้ในที่อื่นใด ซึ่งผู้เขียนได้กลั่นกรองมาเป็นอย่างดีโปรดได้ติดตามต่อไปในเว็บนี้